วิจัยในชั้นเรียน การศึกษาปัญหาการออกเสียงสัทอักษรจีน
ชื่อผู้วิจัย นายพัชรากร สอนอุ่น
จากผลการวิจัยการศึกษาปัญหาการออกเสียงสัทอักษรจีนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/3 แผนการเรียนศิลป์-ภาษาจีน โรงเรียนเทพศาลาประชาสรรค์ ผู้วิจัยได้พบประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับปัญหาการออกเสียงสัทอักษรจีนของนักเรียน ซึ่งควรนำมาอภิปรายผล ดังต่อไปนี้
1. นักเรียนไม่สามารถออกเสียงพยัญชนะกลุ่ม zh sh ch r z c s ได้ เนื่องจากภาษาไทยไม่มีวิธีการออกเสียงแบบนี้ ซึ่งนักเรียนมักใช้พยัญชนะ จ ฉ ช ฌ ศ ษ ส แทนเสียงอ่านพยัญชนะเหล่านี้ จึงทำให้เกิดความผิดพลาดในการออกเสียงเนื่องจากวิธีการออกเสียงแตกต่างกัน นอกจากนี้นักเรียนยังมีความสับสนในการออกเสียงในกลุ่มพยัญชนะ zh sh ch และกลุ่มพยัญชนะ z c s อีกด้วย
นอกจากนี้นักเรียนมีปัญหาในการออกเสียงพยัญชนะ r โดยใช้วิธีตวัดหรือรัวลิ้นพร้อมออกเสียง และบางคนออกเสียงเป็นเสียงเดียวกับพยัญชนะ l
2. นักเรียนอ่านออกเสียงเบาเป็นวรรณยุกต์หลายเสียง จากการทดสอบการอ่านคำสองพยางค์ สามพยางค์ และประโยค นักเรียนอ่านคำที่มีวรรณยุกต์เสียงอื่นในหลายเสียง และไม่เข้าใจการออกเสียงวรรณยุกต์เสียงเบาที่อยู่ด้านหลังของคำที่มีวรรณยุกต์ที่ไม่เหมือนกัน เช่น ประโยคที่ 7 tā shì Běijīng dàxuéde xuéshengคือคำว่า xuésheng นักเรียนออกเสียงวรรณยุกต์เสียงเบาคำนี้เป็นวรรณยุกต์หลายเสียง ซึ่งคำว่า xuésheng นักเรียนออกเสียงเป็นวรรณยุกต์เสียง 4 และเสียง 1 คือ xuéshēng และ xuéshèng
3. นักเรียนไม่สามารถอ่านสระประสม uai ian iang iong ได้ สระประสมเหล่านี้เกิดจากสระเดี่ยวสองหรือสามตัวประสมกัน เวลาอ่านจำเป็นต้องอ่านควบให้เป็นหนึ่งเสียง แต่นักเรียนหลายคนกลับอ่านเป็นสองเสียง
4. นักเรียนมีปัญหาในการออกเสียงวรรณยุกต์เสียงที่ 2 และ 3 โดยนักเรียนจะออกเสียงที่ 2 ในลักษณะสั้นและสูงไม่มากพอ ส่วนเสียงที่ 3 นักเรียนไม่สามารถแปรจากเสียงที่เริ่มจากระดับกลางต่ำแล้วลดลงต่ำสุดจากนั้นแปรเสียงสูงขึ้นได้
5. นักเรียนออกเสียงสระ er เป็นเสียงสระเดียวกับสระ e ซึ่งเป็นการออกเสียงโดยไม่มีการม้วนปลายลิ้นยกสูงขึ้น นอกจากนี้นักเรียนยังไม่สามารถออกเสียงคำว่า huìr wánr ได้ชัดเจนเนื่องจากนักเรียนไม่ออกเสียงม้วนลิ้น r ที่อยู่ด้านหลัง
6. นักเรียนไม่สามารถอ่านออกเสียงสระ ia และ ie ได้ โดยบางส่วนเข้าใจผิดว่าออกเสียงคล้ายกับสระ เอีย ในภาษาไทย และบางส่วนอ่านออกเสียงสระทั้งสองนี้สลับกัน