รูปแบบการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในสภาวะปกติใหม่
โรงเรียนโนนค้อวิทยาคม
ผู้วิจัย นายพรศักดิ์ อุ่นใจ
ผู้อำนวยการโรงเรียนโนนค้อวิทยาคม อำเภอโนนคูณ จังหวัดศรีสะเกษ
ปีที่วิจัย 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อ 1) ศึกษาสภาพการดำเนินการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในสภาวะปกติใหม่ โรงเรียนโนนค้อวิทยาคม 2) สร้างรูปแบบการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในสภาวะปกติใหม่โรงเรียนโนนค้อวิทยาคม 3) ทดลองใช้รูปแบบการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในสภาวะปกติใหม่โรงเรียนโนนค้อวิทยาคม และ
4) ประเมินรูปแบบการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในสภาวะปกติใหม่ โรงเรียนโนนค้อวิทยาคม
เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development: R & D) ประยุกต์ร่วมกับเทคนิคกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) ดำเนินการวิจัยแบ่งเป็น 4 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 ศึกษาสภาพปัจจุบันในการดำเนินการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในสภาวะวิถีปกติใหม่
โรงเรียนโนนค้อวิทยาคม กลุ่มเป้าหมายและกลุ่มตัวอย่างได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา ครูที่ปรึกษา หัวหน้าแนะแนว หัวหน้าระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน และผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 248 คน
ได้มาจากการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม
ระยะที่ 2 สร้างรูปแบบการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในสภาวะวิถีปกติใหม่โรงเรียนโนนค้อวิทยาคม
ใช้แบบประเมินความเหมาะสม ความเป็นไปได้จากผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 12 คน โดยการประชุมสนทนากลุ่ม ระยะที่ 3 ทดลองใช้รูปแบบการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในสภาวะวิถีปกติใหม่โรงเรียนโนนค้อวิทยาคม กับครูที่ปรึกษา จำนวน 11 คน นักเรียนกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มที่มีปัญหา จำนวน 58 คน ในปีการศึกษา 2563 ดำเนินการตามรูปแบบ PAOR Cycle Model มี 4 ขั้นตอน ได้แก่ การวางแผน (Planning) การปฏิบัติ (Action) การสังเกต (Observation) และการสะท้อนผล (Reflection) โดยใช้รูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการ 2 วงรอบ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ แบบทดสอบ แบบสังเกต แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ ระยะที่ 4 ประเมินรูปแบบการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในสภาวะวิถีปกติใหม่โรงเรียนโนนค้อวิทยาคม เพื่อศึกษาความพึงพอใจของครู และผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 248 คน และนักเรียนกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มที่มีปัญหา จำนวน 58 คน โดยใช้แบบสอบถาม ความพึงพอใจ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า
1. สภาพการดำเนินการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในสภาวะวิถีปกติใหม่
โรงเรียนโนนค้อวิทยาคม พบว่า การดำเนินการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนโนนค้อวิทยาคม ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก
2. รูปแบบการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในสภาวะวิถีปกติใหม่โรงเรียน โนนค้อวิทยาคม มีความเหมาะสมและความเป็นไปได้ โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด และมีองค์ประกอบ ดังนี้ 1) ความเป็นมาและความสำคัญ 2) หลักการ 3) จุดมุ่งหมาย 4) แนวทางการนำรูปแบบไปใช้ ประกอบด้วย การประชุมเชิงปฏิบัติการ กิจกรรมการพัฒนา การกำกับติดตามผล 5) กระบวนการดำเนินงาน ตามรูปแบบ PAOR Cycle Model มี 4 ขั้นตอนดังนี้ ขั้นการวางแผน (Planning) ขั้นการปฏิบัติ (Action) ขั้นการสังเกต (Observation) ขั้นการสะท้อนผล (Reflection) 6) การวัดและประเมินผล 7) เงื่อนไขความสำเร็จ
3. ผลการใช้รูปแบบการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในสภาวะวิถีปกติใหม่โรงเรียนโนนค้อวิทยาคม พบว่า ครูที่ปรึกษามีความรู้ ความเข้าใจวิธีการ กระบวนการและขั้นตอนการดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนมากขึ้น และสามารถคัดกรองนักเรียนได้ ส่วนนักเรียนกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มมีปัญหา มีจำนวนลดลง และสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์มาเป็นกลุ่มปกติได้ คิดเป็นร้อยละ 94.83
4. ผลการประเมินรูปแบบการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในสภาวะวิถีปกติใหม่โรงเรียนโนนค้อวิทยาคม พบว่า ครู ผู้ปกครองนักเรียน และนักเรียนมีความพึงพอใจต่อรูปแบบ การพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในสภาวะวิถีปกติใหม่โรงเรียนโนนค้อวิทยาคม โดยรวม
อยู่ในระดับมากที่สุด