รายงานการประเมินโครงการของโครงการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
ผู้รายงาน จันทร์เพ็ญ ภิญโญวงศ์
ปีที่ประเมิน 2564
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการของโครงการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนโรงเรียนมหรรณพาราม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 1 โดยใช้รูปแบบซิปป์ (CIPP Model) ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ประเมินบริบท (Context) ของโครงการเกี่ยวกับความต้องการจำเป็นของการทำโครงการ และความเป็นไปได้ของโครงการ (2) ประเมินปัจจัยเบื้องต้น (Input) ของโครงการเกี่ยวกับความเหมาะสมของบุคลากรและความเหมาะสมของกิจกรรม (3) ประเมินกระบวนการ (Process) ของโครงการเกี่ยวกับการดำเนินงานของกิจกรรมที่ดำเนินการตามภารกิจของโครงการ การติดตามและประเมินผลโครงการ (4) ประเมินผลผลิต (Product) ของโครงการเกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และระดับความพึงพอใจของผู้เรียน ผู้ปกครอง ครู และกรรมการสถานศึกษา ประชากรที่ใช้ในการประเมินโครงการ รวมทั้งสิ้น 2,752 คน ประกอบด้วย นักเรียน จำนวน 1,333 คน ผู้ปกครอง จำนวน 1,333 คน ครู จำนวน 71 คน และกรรมการสถานศึกษา จำนวน 15 คน จำแนกเป็นกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินทั้งสิ้นจำนวน 682 คน ประกอบด้วย นักเรียน จำนวน 298 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 298 คน ได้จากการสุ่มตัวอย่างง่ายโดยกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่าง จากประชากรตามตารางของเครจซีและมอร์แกน (Krijcie and Morgan) สำหรับครูจำนวน 71 คน และกรรมการสถานศึกษา จำนวน 15 คน ศึกษาจากจำนวนประชากร
เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน จำนวน 10 ฉบับ ประกอบด้วยแบบสอบถามแบบมาตร ประมาณค่า 5 ระดับ (Rating Scale) จำนวน 6 ฉบับ แบบบันทึก จำนวน 2 ฉบับ และแบบสัมภาษณ์ จำนวน 2 ฉบับ
สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลในการประเมินครั้งนี้ คือ ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (μ , x̅) และส่วนเบี่ยงเบียนมาตรฐาน (S.D) หาค่าความตรงของเครื่องมือโดยสูตร IOC ใช้แอลฟา หาค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามโดยใช้สูตรของคอนบาร์ค
ผลการประเมินพบว่า
1. ผลการประเมินบริบทของโครงการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวชี้วัด พบว่าตัวชี้วัดความต้องการจำเป็น ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมาก และตัวชี้วัดความเป็นไปได้ ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมาก
2. ผลการประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวชี้วัด พบว่าตัวชี้วัดความเหมาะสมของบุคลากร ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมาก และตัวชี้วัดความเหมาะสมของกิจกรรม ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมาก
3. ผลการประเมินกระบวนการของโครงการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวชี้วัด พบว่าตัวชี้วัดร้อยละของกิจกรรมที่ดำเนินการ ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมากที่สุด และตัวชี้วัดร้อยละของการติดตามการดำเนินกิจกรรมผ่านเกณฑ์ในระดับมากที่สุด
4. ผลการประเมินผลผลิตของโครงการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นตัวชี้วัด ดังนี้
4.1 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน พบว่า ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนผ่านเกณฑ์ การประเมินในระดับปานกลาง
4.2 การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน พบว่าหลังจากเข้าร่วมโครงการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนแล้ว ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเพิ่มขึ้น ผ่าน เกณฑ์การประเมินในระดับมาก
4.3 ความพึงพอใจของผู้เรียน พบว่าผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมาก
4.4 ความพึงพอใจของผู้ปกครอง พบว่าผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมาก
4.5 ความพึงพอใจของครู พบว่าผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมากที่สุด
4.6 ความพึงพอใจของกรรมการสถานศึกษา พบว่าผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมาก