รายงานผลการประเมินโครงการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม
การประเมินโครงการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา ปีการศึกษา 2564 โรงเรียนวัดมหาวนาราม มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินบริบท (Context) ปัจจัยนำเข้า (Input) กระบวนการ (Process) และผลผลิต (Product) ของโครงการ โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วย ครู/บุคลากรทางการศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครอง และนักเรียน จำนวน 527 คน เครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถาม แบบประเมิน แบบสำรวจข้อมูล และจากการศึกษาเอกสาร ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลโดยค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ความถี่ ร้อยละ และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
ผลการประเมินโครงการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะอันพึงประสงค์เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา ปีการศึกษา 2564 โรงเรียนวัดมหาวนาราม พบว่า
1. ด้านบริบท (Context)
1.1 จากการสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion) ครู/บุคลากรทางการศึกษา และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า โรงเรียนวัดมหาวนารามมีความต้องการจำเป็นในการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ เนื่องจากนักเรียนบางส่วนของโรงเรียนมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งเกิดจากเหตุปัจจัยหลายส่วนทั้งสภาพครอบครัวและสิ่งแวดล้อมภายนอก ส่งผลให้นักเรียนมีความเสี่ยงที่จะแสดงพฤติกรรมเชิงลบมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ให้แก่ผู้เรียน ทั้งในส่วนการบูรณาการในการเรียนการสอนหรือกิจกรรมเสริมหลักสูตร
1.2 จากการสอบถามครู/บุคลากร และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เกี่ยวกับความต้องการจำเป็นในการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ความสอดคล้องเหมาะสม และความเป็นไปได้ของโครงการ พบว่า โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดจำแนกตามด้าน พบว่า ด้านความต้องการจำเป็นของโครงการ ได้แก่ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างผู้เรียนให้มีการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ อยู่ในระดับมากที่สุด ด้านความสอดคล้องเหมาะสมของโครงการ ได้แก่ การดำเนินงานโครงการมีความสอดคล้องกับสภาพปัญหา ความต้องการของนักเรียน ผู้ปกครองและชุมชน อยู่ในระดับมากที่สุด และด้านความเป็นไปได้ของโครงการ ได้แก่ กำหนดขั้นตอนแนวทางการจัดการเรียนรู้บูรณาการอย่างชัดเจน อยู่ในระดับ มากที่สุด
2. ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) จากการสอบถามครู/บุคลากรทางการศึกษา และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดจำแนกตามด้าน พบว่า ด้านบุคลากร ได้แก่ ครู/บุคลากรมีความรู้ความเข้าใจในการส่งเสริมผู้เรียนให้มีคุณธรรมจริยธรรม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ อยู่ในระดับมากที่สุด ด้านการบริหารจัดการ ได้แก่ กำหนดวิสัยทัศน์ ที่สอดคล้องกับการส่งเสริมผู้เรียนให้มีคุณธรรมจริยธรรมและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ อยู่ในระดับ มากที่สุด ด้านงบประมาณ ได้แก่ มีการจัดสรรงบประมาณในการดำเนินโครงการสอดคล้องกับลักษณะของกิจกรรม อยู่ในระดับมากที่สุด และด้านวัสดุอุปกรณ์ ได้แก่ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนจัดหาวัสดุอุปกรณ์เพื่อการนำเสนอผลงานด้วยตนเองตามความสนใจ อยู่ในระดับมากที่สุด
3. ด้านกระบวนการ (Process) จากการสอบถามครู/บุคลากรทางการศึกษา และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เกี่ยวกับกระบวนการดำเนินโครงการ 4 ด้าน ได้แก่ การวางแผน การดำเนินงาน การวัดประเมินผล และการนำผลไปปรับปรุงการดำเนินงาน โดยจำแนกตามกิจกรรมดังนี้
3.1 กิจกรรมที่ 1 การสร้างความตระหนัก โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดจำแนกตามด้าน พบว่า ด้านการวางแผน ได้แก่ ผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการวางแผนการดำเนินโครงการ เช่น การกำหนดกิจกรรม การออกแบบการดำเนินงาน การจัดทำแนวทางการดำเนินงาน อยู่ในระดับมากที่สุด ด้านการดำเนินงาน ได้แก่ กิจกรรมเป็นการเสริมสร้างเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมและคุณลักษณะอันพึงประสงค์โดยให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง อยู่ในระดับมาก ด้านการวัดประเมินผล ได้แก่ มีการติดตามผู้เรียนที่มีปัญหาด้านคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ อยู่ในระดับ มากที่สุด และด้านการนำผลไปปรับปรุงการดำเนินงาน ได้แก่ มีการนำผลจากการศึกษาสภาพปัญหาวางแผนแนวทางการดำเนินงาน อยู่ในระดับมากที่สุด
3.2 กิจกรรมที่ 2 ชักนำคุณธรรมสู่ห้องเรียน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดจำแนกตามด้าน พบว่า ด้านการวางแผน ได้แก่ วิเคราะห์กิจกรรมเพื่อออกแบบการพัฒนาให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการ อยู่ในระดับมากที่สุด ด้านการดำเนินงาน ได้แก่ มีการดำเนินงานที่ส่งเสริมให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนา อยู่ในระดับมากที่สุด ด้านการวัดประเมินผล ได้แก่ มีกระบวนการวัดประเมินผลคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ อยู่ในระดับมากที่สุด และด้านการนำผลไปปรับปรุงการดำเนินงาน ได้แก่ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมให้ข้อมูลสะท้อนผล การดำเนินงานเพื่อการปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่องอยู่ในระดับมากที่สุด
3.3 กิจกรรมที่ 3 เพียรติดตามการทำความดีโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดจำแนกตามด้าน พบว่า ด้านการวางแผน ได้แก่ มีการแต่งตั้ง/มอบหมายผู้เกี่ยวข้องให้มีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของกิจกรรม อยู่ในระดับมากที่สุด ด้านการดำเนินงาน ได้แก่ การดำเนินงาน ที่ส่งเสริมให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอยู่ในระดับมากที่สุด ด้านการวัดประเมินผล ได้แก่ มีเครื่องมือวัดประเมินผลคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่เป็นเกณฑ์มาตรฐาน อยู่ในระดับมากที่สุด และด้านการนำผลไปปรับปรุงการดำเนินงาน ได้แก่ มีการนำผลจากการดำเนินงานไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เป็นแนวทางปฏิบัติที่ดี อยู่ในระดับมากที่สุด
3.4 กิจกรรมที่ 4 จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดจำแนกตามด้าน พบว่า ด้านการวางแผน ได้แก่ มีการประเมินก่อนการดำเนินโครงการเพื่อปรับแก้ไขกิจกรรมให้เหมาะสม อยู่ในระดับมากที่สุด ด้านการดำเนินงาน ได้แก่ การดำเนินงาน ทุกขั้นตอนเป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด อยู่ในระดับมากที่สุด ด้านการวัดประเมินผล ได้แก่ มีกระบวนการวัดประเมินผลคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ อยู่ในระดับมากที่สุด และด้านการนำผลไปปรับปรุงการดำเนินงาน ได้แก่ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมให้ข้อมูลสะท้อนผลการดำเนินงานเพื่อการปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อยู่ในระดับมากที่สุด
4. ด้านผลผลิต (Product) จำแนกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ 1) ผลการดำเนินงานตามกิจกรรมของโครงการ 2) ผลการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของโครงการ 3) ผลกระทบที่เกิดขึ้น 4) ความพึงพอใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีต่อโครงการ
4.1 ผลการดำเนินงานตามกิจกรรมของโครงการ
4.1.1 ผลการดำเนินงานกิจกรรมที่ 1 การสร้างความตระหนัก พบว่า มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ตามแนวคิด “ความดีที่อยากทำ ปัญหาที่อยากแก้” เพื่อค้นหาคุณธรรมเป้าหมายโรงเรียนวัดมหาวนาราม โดยการวิเคราะห์ปรัชญา เอกลักษณ์ อัตลักษณ์ของโรงเรียน เพื่อกำหนด “คุณธรรมอัตลักษณ์” พบว่า คุณธรรมอัตลักษณ์โรงเรียนวัดมหาวนาราม ประกอบด้วย ความมีระเบียบวินัย ความรับผิดชอบความซื่อสัตย์ ความพอเพียง และ จิตอาสา โดยมีพฤติกรรมบ่งชี้คุณลักษณะด้านผู้บริหาร ครู และนักเรียน
4.1.2 ผลการดำเนินงานกิจกรรมที่ 2 ชักนำคุณธรรมสู่ห้องเรียน พบว่า มีการพัฒนาศักยภาพนักเรียนแกนนำ โดยใช้รูปแบบโครงงานคุณธรรม “คืนคุณธรรมสู่ห้องเรียน” ประจำปีการศึกษา 2564 โดยบูรณาการการจัดการเรียนรู้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ในห้องเรียน ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 2 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เพื่อส่งเสริมกระบวนการจัดการเรียนรู้บูรณาการโครงงานคุณธรรม “โครงงานคุณธรรม 21 โครงงาน 21 ห้องเรียน” โดยครูและนักเรียนร่วมกันระดมความคิดวิเคราะห์สภาพปัญหาและพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ที่ควรแก้ไขในปีการศึกษา 2564 แล้วกำหนดคุณธรรมเป้าหมายพร้อมพฤติกรรมบ่งชี้เชิงบวก เพื่อพัฒนาเป็นคุณธรรมอัตลักษณ์ของห้องเรียน ครูจัดทำแผนการเรียนรู้ บูรณาการโดยใช้โครงงานคุณธรรมเป็นฐาน และผู้เรียนจัดทำโครงงานคุณธรรมพร้อมทั้งนำเสนอ
4.1.3 ผลการดำเนินงานกิจกรรมที่ 3 เพียรติดตามการทำความดี พบว่า มีการดำเนินงานโดยครูสังเกตพฤติกรรมการปฏิบัติตนของนักเรียนตามคุณธรรมอัตลักษณ์ของห้องเรียนเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง และประเมินพฤติกรรมการปฏิบัติตนของนักเรียนตามคุณธรรม อัตลักษณ์เป็นรายบุคคล หากมีนักเรียนคนใดยังมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ให้ครูร่วมกับครอบครัวดำเนินการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของนักเรียน รวมถึงสรุปผลการดำเนินงานให้ผู้บริหารสถานศึกษาทราบและโรงเรียนดำเนินการรายงานให้ผู้เกี่ยวข้องทราบ
4.1.4 ผลการดำเนินงานกิจกรรมที่ 4 จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พบว่า มีการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลงานในห้องเรียน ระหว่างห้องเรียน และสรุปถอดบทเรียน เช่น การจัดนิทรรศการ การนำเสนอผลงานที่ประสบผลสำเร็จของแต่ละห้องเรียน ตลาดนัดคุณธรรม ยกย่อง เชิดชูเกียรติห้องเรียนคุณธรรมต้นแบบ และประชาสัมพันธ์เผยแพร่ห้องเรียนคุณธรรมต้นแบบ
4.2 ผลการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของโครงการ
4.2.1 การบริหารจัดการและจัดการเรียนรู้บูรณาการคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ พบว่า โรงเรียนวัดมหาวนารามใช้รูปแบบการบริหารจัดการ “โรงเรียนคุณธรรมแบบมีส่วนร่วมโดยใช้วงจรคุณภาพ PDCA เพื่อสร้างสรรค์คนดี คนเก่ง ศรีมหาวนาราม” ด้วยหลักการเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา โดยอาศัยกระบวนการให้ทุกคนมีส่วนร่วม ร่วมคิด ร่วมกันวางแผน ร่วมตัดสินใจ ร่วมดำเนินการ ร่วมรับผิดชอบ ร่วมแก้ปัญหา ร่วมติดตามประเมินผล และร่วมชื่นชมผลสำเร็จ ก่อให้เกิดเป็นวัฒนธรรมของโรงเรียนซึ่งอาศัยกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกระบวนการ PLC ระหว่างผู้ปฏิบัติงานในการพัฒนา และแก้ไขปัญหาอุปสรรคเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย นอกจากนี้ในส่วนของนักเรียนยังได้จัดกิจกรรมสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ในการเรียนการสอนทั้ง 8 กลุ่มสาระ การเรียนรู้ และการทำกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน โดยความรู้ที่นักเรียนได้รับเกิดจากการลงมือปฏิบัติโครงงานคุณธรรมซึ่งส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่คงทนและส่งผลต่อความยั่งยืน
4.2.2 การส่งเสริมผู้เรียนให้มีคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ พบว่า ปีการศึกษา 2564 ผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีผลการประเมินคุณธรรม อัตลักษณ์ของสถานศึกษา 5 ด้าน ได้แก่ ระเบียบวินัย ความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์ ความพอเพียง และจิตอาสา ในระดับดีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 100 ผลการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน ในระดับดีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 98.95 ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่สถานศึกษากำหนด
4.2.3 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน โรงเรียนวัดมหาวนาราม
1) ผลการประเมินพัฒนาการ โรงเรียนวัดมหาวนาราม ปีการศึกษา 2564 ของนักเรียนชั้นอนุบาล 2 พบว่า นักเรียนทั้งหมด 49 คน มีผลการประเมินในระดับดีขึ้นไป ด้านร่างกาย จำนวน 43 คน คิดเป็นร้อยละ 87.76 ด้านอารมณ์ จำนวน 43 คน คิดเป็นร้อยละ 87.76 ด้านสังคม จำนวน 40 คน คิดเป็นร้อยละ 81.63 และด้านสติปัญญา จำนวน 42 คน คิดเป็นร้อยละ 85.71 นักเรียนชั้นอนุบาล 3 พบว่า นักเรียนทั้งหมด 63 คน มีผลการประเมินในระดับดีขึ้นไป ด้านร่างกาย จำนวน 54 คน คิดเป็นร้อยละ 85.71 ด้านอารมณ์ จำนวน 53 คน คิดเป็นร้อยละ 84.13 ด้านสังคม จำนวน 52 คน คิดเป็นร้อยละ 82.54 และด้านสติปัญญา จำนวน 51 คน คิดเป็นร้อยละ 80.19
2) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนวัดมหาวนาราม ปีการศึกษา 2564 กลุ่มสาระการเรียนรู้ที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ การงานอาชีพ มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 81.64 รองลงมา คือ ศิลปะ มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 80.65 สุขศึกษาและพลศึกษา มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 78.58 สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 76.37 ภาษาไทย มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 74.36 ภาษาอังกฤษ มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 73.95 วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 73.11 และคณิตศาสตร์ มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 71.51
3) ผลการประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียนของผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2564 พบว่า ผู้เรียนทั้งหมด 478 คน มีผลการประเมิน ในระดับดี จำนวน 285 คน และในระดับดีเยี่ยม จำนวน 115 คน หากพิจารณาในระดับดีขึ้นไป พบว่า มีจำนวน 400 คน คิดเป็นร้อยละ 83.68
4) ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ปีการศึกษา 2564 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พบว่า คะแนนเฉลี่ยระดับโรงเรียน วิชาภาษาไทย คิดเป็นร้อยละ 66.94 คณิตศาสตร์ คิดเป็นร้อยละ 33.94 วิทยาศาสตร์ คิดเป็นร้อยละ 40.94 ภาษาอังกฤษ คิดเป็นร้อยละ 46.09 หากเปรียบเทียบ พบว่า มีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าระดับเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 3 วิชา ได้แก่ ภาษาไทย วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ มีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าระดับประเทศ จำนวน 3 วิชา ได้แก่ ภาษาไทย วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ หากเปรียบเทียบระหว่างปีการศึกษา 2563 และปีการศึกษา 2564 พบว่า ปีการศึกษา 2564 มีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าปีการศึกษา 2563 จำนวน 3 วิชา ได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ
5) ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ปีการศึกษา 2564 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 พบว่า คะแนนเฉลี่ยระดับโรงเรียน วิชาภาษาไทย คิดเป็นร้อยละ 54.93 คณิตศาสตร์ คิดเป็นร้อยละ 23.01 วิทยาศาสตร์ คิดเป็นร้อยละ 29.82 ภาษาอังกฤษ คิดเป็นร้อยละ 26.31 หากเปรียบเทียบ พบว่า มีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าระดับเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 3 วิชา ได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ มีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าระดับประเทศ จำนวน 1 วิชา ได้แก่ ภาษาไทย เปรียบเทียบระหว่างปีการศึกษา 2563 และปีการศึกษา 2564 พบว่า ปีการศึกษา 2564 มีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าปีการศึกษา 2563 จำนวน 3 วิชา ได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์
4.3 ผลกระทบที่เกิดขึ้น
4.3.1 ผลที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน พบว่า ผู้เรียนได้รับการพัฒนาให้มีคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม คุณลักษณะที่ดีตามที่โรงเรียนกำหนด และได้ลงมือปฏิบัติโครงงานคุณธรรมแต่ละระดับชั้น มีความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและสังคม มีวินัย มีจิตอาสา มีน้ำใจ มีความเสียสละ ประหยัดอดออม ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ มีพฤติกรรมที่พึงประสงค์เพิ่มขึ้น พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ลดลง และได้รับรางวัลต่าง ๆ จากหลายหน่วยงาน
4.3.2 ผลที่เกิดขึ้นกับครู พบว่า ครูมีการพัฒนาตนเองตามคุณธรรมอัตลักษณ์ของโรงเรียน มีการทำงานเป็นทีม รู้จักการเป็นผู้นำผู้ตามที่ดี มีทักษะการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา ออกแบบกิจกรรมบูรณาการคุณธรรมเข้ากับกิจกรรมการเรียนรู้ และการมีส่วนร่วมในการพัฒนางาน มีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ตามคุณธรรมอัตลักษณ์ของโรงเรียน เช่น การมาทำงานและเข้าสอนตรงเวลา พูดจาสุภาพ เตรียมสื่อ วัสดุ อุปกรณ์ ประกอบการสอนอย่างประหยัดตามความจำเป็น ปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มกำลังความสามารถ ส่งงานที่ได้รับมอบหมายตามกำหนด ช่วยเหลืองานของโรงเรียนด้วยความเต็มใจ ร่วมกิจกรรมหน้าเสาธงอย่างสม่ำเสมอ ช่วยเหลืองานของโรงเรียนด้วยความเต็มใจและเต็มความสามารถ และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับนักเรียน
4.3.3 ผลที่เกิดขึ้นกับผู้บริหาร พบว่า ผู้บริหารให้ความสำคัญต่อการเสริมสร้างพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ โดยเป็นผู้นำการขับเคลื่อน เป็นผู้บริหารมืออาชีพ บริหารงานแบบมีส่วนร่วม มีภาวะผู้นำสามารถบริหารจัดการภายใต้การบริหารการเปลี่ยนแปลง ในศตวรรษที่ 21 พัฒนาระบบการบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพตามหลักธรรมาภิบาล มีทักษะ การคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา นิเทศการเรียนการสอน ติดตามผลการปฏิบัติงานของครูและบุคลากรทางการศึกษาตามกำหนดการ ใช้วัสดุอุปกรณ์อย่างคุ้มค่า มีความรับผิดชอบ ปฏิบัติหน้าที่ตรงเวลาและเต็มเวลา แต่งกาย เหมาะสม ร่วมกิจกรรมหน้าเสาธงอย่างสม่ำเสมอ ปฏิบัติหน้าที่ทั้งในและนอกเวลาราชการ และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับครูและนักเรียน
4.3.4 ผลที่เกิดขึ้นกับโรงเรียน พบว่า โรงเรียนมีกระบวนการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักการความร่วมมือ ให้ทุกคนได้ลงมือปฏิบัติเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเชิงบวกในโรงเรียนของผู้บริหาร ครู และนักเรียนในโรงเรียน เกิดองค์ความรู้ของการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ แนวปฏิบัติที่ดี มีการพัฒนารูปแบบโมเดลหรือยุทธศาสตร์การดำเนินโครงงาน การจัดการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนโดยบูรณาการคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะอันพึงประสงค์เข้าไปสู่รายวิชาบางรายวิชาและกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียน องค์ความรู้ที่เกิดจากการเรียนรู้ และการถอดบทเรียนจากปราชญ์ชาวบ้านและวัฒนธรรมของชุมชน และนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนโดยใช้การดำเนินโครงงานคุณธรรมเป็นฐาน ซึ่งเป็นนวัตกรรมในการแก้ปัญหา เป็นบทเรียนที่ใช้ในการพัฒนาคุณธรรมอัตลักษณ์ของโรงเรียน
4.3.5 ผลที่เกิดขึ้นกับครอบครัวและชุมชน พบว่า ผู้ปกครองเห็นการเปลี่ยนแปลงและพึงพอใจในการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียนทั้งทางด้านระเบียบวินัย คุณธรรม จริยธรรม ความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและสังคมของนักเรียน พอเพียง จิตอาสา ทำให้เกิดตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญในดูแลเอาใจใส่นักเรียนและกิจกรรมของโรงเรียนมากขึ้น ตลอดจนการเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่บุตรหลาน ชุมชนและหน่วยงานในชุมชนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตระหนักและเห็นความสำคัญ ในการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ให้แก่นักเรียน เพื่อเป็นเยาวชนที่ดี ของสังคม ซึ่งเห็นได้จากการเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนโรงเรียน เช่น บริจาคปัจจัยร่วมซื้ออุปกรณ์เสริม ในอาคารหอประชุม ให้นักเรียนได้ปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ อย่างมีความสุข บริจาคสิ่งของต่าง ๆ และการเป็นวิทยากรให้ความรู้ในด้านต่าง ๆ ในส่วนของเครือข่ายผู้ปกครองให้ความร่วมมือช่วยกันดูแลช่วยเหลือนักเรียน และสร้างภูมิคุ้มกันแก่นักเรียน สร้างความร่วมมือระหว่างผู้นำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายผู้ปกครองผ่านระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน เพื่อในการร่วมกันดูแลนักเรียนด้านการเรียนและความประพฤติ ทำให้ผู้ปกครองได้รับข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมของนักเรียนเพื่อร่วมส่งเสริมสนับสนุนและช่วยกันแก้ปัญหาลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียนให้น้อยลง มีภูมิคุ้มกันในการดำเนินชีวิตโดยนำหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา เรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา และเบญจธรรมเชื่อมโยง เข้ากับการใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข
4.4 ความพึงพอใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีต่อโครงการ
4.4.1 ผลการประเมินความพึงพอใจที่มีต่อโครงการจากความคิดเห็นของครู/บุคลากรทางการศึกษา และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ประเด็นที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด ได้แก่ มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลงานในห้องเรียนและระหว่างห้องเรียน อยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ มีขั้นตอนในการปฏิบัติงานเพื่อให้ครูส่งเสริมพัฒนาผู้เรียน อยู่ในระดับมากที่สุด และโครงการมีความสอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในปัจจุบัน ซึ่งมีค่าเฉลี่ยเท่ากับโครงการเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาผู้เรียน อยู่ในระดับมากที่สุด ตามลำดับ
4.4.2 ผลการประเมินความพึงพอใจที่มีต่อโครงการจากความคิดเห็นของผู้ปกครอง โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ประเด็นที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด ได้แก่ นักเรียนมีความรับผิดชอบ การทำงานทั้งในโรงเรียนและที่บ้าน อยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติเพื่อพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ อยู่ในระดับมากที่สุด และนักเรียนมีผลงาน ที่ภาคภูมิใจนำเสนอผู้ปกครอง อยู่ในระดับมากที่สุด ตามลำดับ
4.4.3 ผลการประเมินความพึงพอใจที่มีต่อโครงการจากความคิดเห็นของนักเรียน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ประเด็นที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด ได้แก่ นักเรียนมีส่วนร่วมวิเคราะห์สภาพปัจจุบัน ปัญหาและความต้องการในการพัฒนา อยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ นักเรียนมีความรับผิดชอบการทำงานทั้งในโรงเรียนและที่บ้าน อยู่ในระดับมากที่สุด และนักเรียนได้ฝึกปฏิบัติเพื่อพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ อยู่ในระดับมากที่สุด ตามลำดับ