การประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาฉะเชิงเทรา
ผู้รายงาน นายคำกอง เงินเชียง
สังกัด โรงเรียนบางปะกง “บวรวิทยายน” สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาฉะเชิงเทรา
ปีการศึกษา 2564
บทคัดย่อ
การประเมินครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาระดับการดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน และ 2) เพื่อศึกษาระดับการประเมินด้านบริบท ด้านปัจจัย ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิตของโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนบางปะกง “บวรวิทยายน” สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาฉะเชิงเทรา กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักเรียน ผู้ปกครอง ครูโรงเรียนบางปะกง
“บวรวิทยายน” สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาฉะเชิงเทรา จำนวน 391 คน สุ่มกลุ่มตัวอย่างโดยวิธีการสุ่มแบบชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการประเมินพบว่า
1) การดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก (x ̅ = 4.34) เรียงลำดับตามจากมากไปน้อย คือ การป้องกันช่วยเหลือและแก้ไข การส่งต่อ การคัดกรองนักเรียน การส่งเสริมและพัฒนา และการรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล
2) การประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ในภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก (x ̅ = 4.32) เรียงลำดับจากมากไปน้อย คือ ด้านผลผลิต ด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า และด้านกระบวนการ โดยมีรายละเอียดดังนี้
(1) การประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ด้านบริบท โดยภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก (x ̅ = 4.33) ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากเป็นอันดับแรก คือ วัตถุประสงค์ และเป้าหมายของโครงการสอดคล้องกับแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน และข้อที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ในอันดับสุดท้าย คือ ความต้องการจำเป็นในการดำเนินโครงการ
(2) การประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ด้านปัจจัยนำเข้า โดยภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก (x ̅ = 4.29) ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากเป็นอันดับแรก คือ วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในโครงการเพียงพอต่อการดำเนินงาน และข้อที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ในอันดับสุดท้าย คือ มีการวางแผนการกำกับ ติดตาม การปฏิบัติงานอย่างเหมาะสม
(3) การประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ด้านกระบวนการ โดยภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก (x ̅ = 4.29) ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากเป็นอันดับแรก คือ บุคลากรในโรงเรียนมีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน และข้อที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ในอันดับสุดท้าย คือ บุคลากรทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการประเมินผลการปฏิบัติงาน
(4) การประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ด้านผลผลิต โดยภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก (x ̅ = 4.37) ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากเป็นอันดับแรก คือ ความพึงพอใจต่อการดำเนินโครงการ และข้อที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ในอันดับสุดท้าย คือ คุณภาพและคุณลักษณะของผู้เรียน
คำสำคัญ การประเมินโครงการ ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน