การประเมินโครงการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน
ชื่อผู้ประเมิน นายภวัต ปัญจาทรัพย์ทวี รองผู้อำนวยการสถานศึกษา
ปีที่ประเมิน 2564
คำสำคัญ การประเมินโครงการ, โครงการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนบ้านสวนหลวง (รัตนวิจิตรพิทยาคาร) ปีการศึกษา 2564 ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ประเมินสภาวะแวดล้อมของโครงการ 2) ประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการ 3) ประเมินกระบวนการของโครงการ 4) ประเมินผลผลิตของโครงการ โดยใช้การประเมินโครงการรูปแบบ CIPP Model กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินโครงการการด้านสภาวะแวดล้อมและด้านปัจจัยนำเข้า จำนวนทั้งสิ้น 82 คน ประกอบด้วย ครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 69 คน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 13 คน ด้านกระบวนการ จำนวนทั้งสิ้น 69 คน ประกอบด้วย ครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 69 คน ด้านผลผลิตโดยตรง จำนวนทั้งสิ้น 1,248 คน ประกอบด้วย ครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 69 คน และนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 1,179 คน ด้านผลผลิตโดยอ้อม จำนวนทั้งสิ้น 313 คน ประกอบด้วย ครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 13 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 2 คน นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 149 คน และผู้ปกครอง จำนวน 149 คน เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูลมี 5 ฉบับประกอบด้วย แบบประเมินด้านสภาวะแวดล้อม แบบประเมินด้านปัจจัยนำเข้า แบบประเมินด้านกระบวนการดำเนินงาน แบบประเมินด้านผลผลิตโดยตรง และแบบประเมินด้านผลผลิตโดยอ้อม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ สถิติบรรยายประกอบด้วย ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป SPSS for Window ซึ่งผู้ประเมินได้สรุปผล อภิปรายผลและข้อเสนอแนะ ดังนี้
ผลการประเมินสรุปได้ดังนี้
1. ผลการประเมินด้านสภาวะแวดล้อมของโครงการ โดยภาพรวมมีระดับความสอดคล้องอยู่ในระดับมากที่สุด (μ = 4.51, σ = 0.71) เมื่อพิจารณารายด้านพบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ ด้านวัตถุประสงค์ของโครงการมีความสอดคล้องอยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมา คือ ด้านหลักการและเหตุผลมีความสอดคล้องอยู่ในระดับมากที่สุด และด้านที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ ด้านความเป็นไปได้ของโครงการมีความสอดคล้องอยู่ในระดับมาก
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ โดยภาพรวมมีระดับความเหมาะสม อยู่ในระดับมากที่สุด (μ = 4.54, σ = 0.80) เมื่อพิจารณารายด้านพบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ ด้านทรัพยากรมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมา คือ ด้านการบริหารจัดการมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด และด้านที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ ด้านงบประมาณมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการของโครงการ โดยภาพรวมมีระดับการปฏิบัติกิจกรรม อยู่ในระดับมากที่สุด (μ = 4.60, σ = 0.35) เมื่อพิจารณารายด้านพบว่า มีระดับการปฏิบัติกิจกรรมอยู่ในระดับมากที่สุดทุกด้าน โดยด้านที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ ด้านการดำเนินกิจกรรม (Do) มีการปฏิบัติกิจกรรมอยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมา คือ ด้านการวางแผน (Plan) มีการปฏิบัติกิจกรรมอยู่ในระดับมากที่สุด และด้านที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ ด้านการปรับปรุง พัฒนาการดำเนินงานและรายงานผล (Act) มีการปฏิบัติกิจกรรมอยู่ในระดับมากที่สุด
4. ผลการประเมินด้านผลผลิตของโครงการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนบ้านสวนหลวง (รัตนวิจิตรพิทยาคาร) ปีการศึกษา 2564 แบ่งออกเป็น 2 ประเด็น ดังนี้
4.1 ผลการประเมินด้านผลผลิตโดยตรงของโครงการ โดยภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับดีขึ้นไป สูงกว่าค่าเป้าหมายที่กำหนด คิดเป็นร้อยละ 87.36 อยู่ในระดับคุณภาพดีเยี่ยม และโดยภาพรวมเพิ่มขึ้นจากปีการศึกษา 2563 คิดเป็นร้อยละ 3.23 เมื่อพิจารณาผลการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์รายด้านอยู่ในระดับดีขึ้นไป พบว่า ผลการประเมินเพิ่มขึ้นจากปีการศึกษา 2563 ทุกด้าน โดยด้านที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ ด้านมีวินัย เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.69 รองลงมา คือ ด้านมีจิตสาธารณะ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.07 ส่วนด้านเพิ่มขึ้นน้อยที่สุด คือ ด้านรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และด้าน รักความเป็นไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.98 เท่ากัน
4.2 ผลการประเมินด้านผลผลิตโดยอ้อมของโครงการ โดยภาพรวมความพึงพอใจที่มีต่อการดำเนินโครงการอยู่ในระดับมากที่สุด (X ̅ = 4.61, S.D. = 0.68) เมื่อพิจารณาแยกตามกลุ่มผู้ตอบแบบประเมิน พบว่า ความพึงพอใจที่มีการดำเนินโครงการของผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่ในระดับมากที่สุดทุกกลุ่ม โดยกลุ่มที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ กลุ่มผู้ปกครองมีความพึงพอใจต่อการดำเนินโครงการอยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมา คือ กลุ่มนักเรียนมีความพึงพอใจต่อการดำเนินโครงการอยู่ในระดับมากที่สุด และกลุ่มที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ กุล่มคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีความพึงพอใจต่อการดำเนินโครงการอยู่ในระดับมากที่สุด