การประเมินโครงการจัดการเรียนการสอนโดยใช้สื่อเทคโนโลยีฯ
ไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โรงเรียนบ้านหนองมาก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา
นครศรีธรรมราช เขต 3
ชื่อผู้ประเมิน : วรรณา ยีซัน
ตำแหน่ง : ผู้อำนวยการสถานศึกษา วิทยฐานะ ผู้อำนวยการชำนาญการ
ปีที่ประเมิน : ปีการศึกษา 2564
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การประเมินโครงการจัดการเรียนการสอนโดยใช้สื่อเทคโนโลยีในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โรงเรียนบ้านหนองมาก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 3 ประเมินโดยใช้รูปแบบซิปป์ (CIPP Model) ประเมินโครงการในด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการและด้านผลผลิตโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ประเมินบริบท (Context Evaluation) เกี่ยวกับความต้องการจำเป็น ความชัดเจนของวัตถุประสงค์ ความพร้อมและเหมาะสมของสถานศึกษา ความเป็นไปได้ของโครงการ การสนับสนุนจากหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องและความสอดคล้องกับนโยบายของหน่วยงานต้นสังกัด 2) ประเมินปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) เกี่ยวกับด้านบุคลากร งบประมาณและทรัพยากร ระบบบริหารจัดการ การจัดโครงสร้างองค์กร สื่อและวัสดุอุปกรณ์ การมีส่วนร่วมของชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3) ประเมินกระบวนการ (Process Evaluation) เกี่ยวกับด้านการวางแผนงานด้านการจัดการเรียนการสอนโดยใช้สื่อเทคโนโลยี การนำหลักสูตรสถานศึกษาสู่การเรียนรู้ในสถานการณ์ปัจจุบัน การจัดการเรียนการสอนโดยใช้สื่อเทคโนโลยี การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ การนิเทศติดตามการจัดการเรียนการสอน การพัฒนาและใช้สื่อเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา 4) ประเมินผลผลิต (Product Evaluation) เกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในสาระวิชาหลัก ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี ทักษะการสื่อสารและรู้เท่าทันสื่อ ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ แก้ไขปัญหาได้ ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต เจตคติต่อการเรียนและนิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียน ทักษะด้านชีวิตและอาชีพและด้านความพึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการ ประชากรที่ใช้ในการประเมินโครงการ ได้แก่ นักเรียน ครู ผู้ปกครองและคณะกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนบ้านหนองมาก ในปีการศึกษา 2564 รวมทั้งสิ้น จำนวน 55 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินโครงการได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Random Sampling) จำนวน 22 คน จำแนกเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 - 6 จำนวน 3 คน (เลือกทุกคนเป็นกลุ่มตัวอย่าง) ครูผู้สอน จำนวน 4 คน ผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 6 จำนวน 8 คน (เลือกผู้ปกครองทุกคนเป็นกลุ่มตัวอย่าง) และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน (ไม่รวมตัวแทนครูและผู้อำนวยการสถานศึกษา) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการเป็นแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 5 ฉบับ ดังนี้ 1) แบบสอบถามประเมินประเด็นบริบทก่อนการดำเนินงานโครงการ จำนวน 6 ตัวชี้วัด ข้อคำถาม จำนวน 45 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.90 2) แบบสอบถามประเมินประเด็นปัจจัยนำเข้า ประเมินระยะต้นและระหว่างโครงการ จำนวน 6 ตัวชี้วัด ข้อคำถาม จำนวน 45 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.92 3) แบบสอบถามประเมินกระบวนการในการดำเนินกิจกรรมโครงการ จำนวน 7 ตัวชี้วัด ข้อคำถาม จำนวน 49 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.92 4) แบบสอบถามด้านผลผลิตจากการดำเนินงานโครงการ จำนวน 7 ตัวชี้วัด ข้อคำถาม จำนวน 49 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.89 5) แบบสอบถามความพึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการ จำนวน 20 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.81 ประเมินโดยนักเรียน ครู ผู้ปกครองและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน การเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการตอบแบบสอบถามตามประเด็นการประเมิน ตรวจสอบเอกสารหลักฐาน วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วยค่าสถิติ ร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviation) โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป SPSS for Windows 16.0 ผลการประเมินและข้อเสนอแนะสรุปได้ดังนี้
1. ผลการประเมินด้านบริบทของโครงการในภาพรวมพบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินและอยู่ในระดับมากที่สุดทุกตัวชี้วัด เมื่อพิจารณาตัวชี้วัดทั้ง 6 ตัวชี้วัด พบว่า ความสอดคล้องกับนโยบายของหน่วยงานต้นสังกัด มีความเหมาะสมมากที่สุด รองลงมาคือ ความต้องการจำเป็นของโครงการ ความชัดเจนของวัตถุประสงค์ ความเป็นไปได้ของโครงการ ความพร้อมและเหมาะสมของสถานศึกษา และการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามลำดับ
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ ในภาพรวมพบว่าผ่านเกณฑ์การประเมินและอยู่ในระดับมากที่สุดทุกตัวชี้วัด เมื่อพิจารณาตัวชี้วัดทั้ง 6 ตัวชี้วัด พบว่า ด้านการจัดโครงสร้างองค์กร มีความเหมาะสมมากที่สุด รองลงมาคือ ด้านระบบบริหารจัดการ ด้านบุคลากร ด้านสื่อและวัสดุอุปกรณ์ ด้านงบประมาณและทรัพยากร และด้านการมีส่วนร่วมของชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามลำดับ
3. ผลการประเมินประเด็นกระบวนการของโครงการในภาพรวมพบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินและอยู่ในระดับมากที่สุดทุกตัวชี้วัด เมื่อพิจารณาตัวชี้วัดทั้ง 7 ตัวชี้วัด พบว่า ด้านการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ มีความเหมาะสมมากที่สุด รองลงมาคือ ด้านการนำหลักสูตรสถานศึกษาสู่การเรียนรู้ในสถานการณ์ปัจจุบัน ด้านการวางแผนงาน การจัดการเรียนการสอนโดยใช้สื่อเทคโนโลยี ด้านการพัฒนาและใช้สื่อเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา การจัดการเรียนการสอนโดยใช้สื่อเทคโนโลยี ด้านการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ และด้านการนิเทศติดตามการจัดการเรียนการสอน ตามลำดับ
4. ผลการประเมินประเด็นผลผลิตของโครงการ ในภาพรวมพบว่าผ่านเกณฑ์การประเมิน และอยู่ในระดับมากที่สุดทุกตัวชี้วัด เมื่อพิจารณาตัวชี้วัดทั้ง 7 ตัวชี้วัด พบว่า เจตคติต่อการเรียนและนิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียน มีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมา คือ ทักษะด้านชีวิตและอาชีพ ทักษะการสื่อสารและรู้เท่าทันสื่อ ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในสาระวิชาหลัก และทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ แก้ไขปัญหาได้ ตามลำดับ ความพึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการผ่านเกณฑ์การประเมินและอยู่ในระดับมากที่สุดทุกตัวชี้วัด
ดังนั้น จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะให้มีการดำเนินงานตามโครงการจัดการเรียนการสอนโดยใช้สื่อเทคโนโลยีในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โรงเรียนบ้านหนองมาก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 3 ต่อไป ทั้งนี้ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องตระหนักและเห็นความสำคัญ ให้ความร่วมมือ สนับสนุนอย่างจริงจัง มีการกำกับติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การดำเนินงานโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ