รายงานการประเมินโครงการพัฒนาระบบนิเทศภายในสถานศึกษา
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต 1
ผู้รายงาน นางสาวพิมพ์ทิพย์ ปัญญาบุญ
ปีการศึกษา 2564
บทสรุปผู้บริหาร
รายงานการประเมินโครงการพัฒนาระบบนิเทศภายในสถานศึกษาของโรงเรียนวัดนาวง
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต 1 ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ประเมินโครงการพัฒนาระบบนิเทศภายในสถานศึกษาของโรงเรียนวัดนาวง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านสภาพแวดล้อมของโครงการ (Context Evaluation) ด้านปัจจัยของโครงการ (Input Evaluation) ด้านกระบวนการดำเนินงาน (Process Evaluation) และด้านผลผลิตของโครงการ (Product Evaluation) เพื่อให้ทราบปัญหา และข้อเสนอแนะในการปรับปรุง พัฒนา การดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบนิเทศภายในสถานศึกษาของโรงเรียนวัดนาวง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต 1 โดยประยุกต์ใช้รูปแบบการประเมินซิปโมเดล (CIPP Model) ของแดเนียล แอล สตัฟเฟลบีม (Daniel L. Stufflebeam, 2007) ซึ่งครอบคลุมการประเมินทั้ง 4 ด้าน และประเมินความพึงพอใจของนักเรียน และผู้ปกครองนักเรียนที่มีต่อการดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบนิเทศภายในสถานศึกษาของโรงเรียนวัดนาวง กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนวัดนาวง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต 1 กำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างตามตารางของเครจซี่และมอร์แกน (Krejcie & Morgan.1970 : 608) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้ จำนวน 589 คน โดยการสุ่มอย่างง่าย (Sample Random Sampling) และใช้วิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ดังนี้ ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 4 คน ได้มาโดยเลือกแบบเจาะจง ครูผู้สอน ปีการศึกษา 2564 จำนวน 52 คน ได้มาโดยเลือกแบบเจาะจง คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนวัดนาวง ปีการศึกษา 2564 จำนวน 13 คน ได้มาโดยเลือกแบบเจาะจง เฉพาะกรรมการที่ไม่มีคุณสมบัติเป็นครูหรือผู้บริหารสถานศึกษา นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 - มัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 260 คน ได้มาโดยเลือกแบบเจาะจงเฉพาะ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 - มัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่ให้ข้อมูลได้ จำนวน 12 ห้องเรียน โดยมีหน่วยห้องเรียนเป็นหน่วยการสุ่ม และผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 - มัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 260 คน กำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างตามตารางเครจซี่และมอร์แกน (Krejcie & Morgan.1970 : 608) โดยสุ่มอย่างง่ายด้วยวิธีการจับฉลาก เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบไปด้วยแบบสอบถาม จำนวน 2 ฉบับ ลักษณะของแบบสอบถามเป็นมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับมาตราส่วนลิเคร์ท (Likert) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ โปรแกรมสำเร็จรูป โดยการหาค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) แปลผลการประเมินโดยการเปรียบเทียบข้อมูลกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้
ผลการดำเนินโครงการพัฒนาระบบนิเทศภายในสถานศึกษาของโรงเรียนวัดนาวง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต 1 ปีการศึกษา 2564 สรุปได้ว่า
1. ด้านสภาพแวดล้อมของโครงการ (Context Evaluation) โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด ได้แก่ โครงการสอดคล้องกับนโยบายของโรงเรียนวัดนาวง รองลงมา ได้แก่ โครงการสอดคล้องกับนโยบายของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต 1 และข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด ได้แก่ โครงการสอดคล้องกับสภาพความต้องการของผู้ปกครองนักเรียนและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
2. ด้านปัจจัยของโครงการ (Input Evaluation) โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด ได้แก่ รูปแบบการปฏิบัติกิจกรรมนิเทศภายในสถานศึกษาชัดเจน และมีแผนการดำเนินงานนิเทศภายในชัดเจน รองลงมา ได้แก่ มีปฏิทินปฏิบัติงานการนิเทศภายในชัดเจน และ มีการประชุมบุคลากรที่เกี่ยวข้อง
เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการดำเนินโครงการ และข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด ได้แก่ งบประมาณที่ใช้ในการสนับสนุนโครงการนิเทศภายในเพียงพอ
3. ด้านกระบวนการดำเนินงาน (Process Evaluation) โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษามีการนิเทศ กำกับ ติดตาม ประเมินครูผู้สอนและบุคลากรทางการศึกษาอย่างเป็นระบบและทั่วถึง รองลงมา ได้แก่ มีการวางแผน จัดทำแผนการนิเทศ และร่วมมือกันช่วยเหลือข้าราชการครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนอย่างสม่ำเสมอ และมีการประเมินผล และรายงานผลการดำเนินงานโครงการ และกิจกรรมในตอนสิ้นปีการศึกษา และข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด ได้แก่ มีการวิเคราะห์สภาพความพร้อมพื้นฐานของโรงเรียนและความคิดเห็นของครูวิชาการและครูที่รับผิดชอบโครงการพัฒนาระบบนิเทศภายในสถานศึกษาของโรงเรียนวัดนาวง
4. ด้านผลผลิตของโครงการ (Product Evaluation) โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด ได้แก่ ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับการพัฒนาเทคนิค วิธีการสอน และพัฒนาวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง รองลงมา ได้แก่ นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น และผู้บริหารสถานศึกษา ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีผลงาน รูปแบบ นวัตกรรมที่ประสบผลสำเร็จและเป็นแบบอย่างได้ และข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด ได้แก่ นักเรียนใฝ่เรียนรู้ สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง และประยุกต์ใช้จริงในชีวิตประจำวัน
5. ความพึงพอใจของนักเรียน และผู้ปกครองที่มีต่อการดำเนินโครงการพัฒนาระบบนิเทศภายในสถานศึกษาของโรงเรียนวัดนาวง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต 1 โดยรวม
อยู่ในระดับมากที่สุด ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด ได้แก่ ผลการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนรองลงมา ได้แก่ ผลการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนที่เกิดขึ้นกับผู้สอน และการสนับสนุนของผู้บริหารสถานศึกษาในการดำเนินโครงการ และข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด ได้แก่ งบประมาณในการดำเนินโครงการ