รายงานการประเมินโครงการจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ
ผู้รายงาน นายอุเชน ไชยภูมิ
ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการโรงเรียนวัดแม่เปียะ
ปีที่รายงาน ปีการศึกษา 2564
บทสรุป
การประเมินโครงการจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ ตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ ของโรงเรียนวัดแม่เปียะ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสงขลา เขต 1 ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินบริบทของโครงการจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ ตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ เกี่ยวกับความสอดคล้อง ความต้องการจำเป็นและเหมาะสมของวัตถุประสงค์โครงการ เพื่อประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ ตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ เกี่ยวกับบุคลากร งบประมาณและทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อประเมินกระบวนการดำเนินโครงการจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ ตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ เกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินการ 4 ขั้นตอน คือ ขั้นเตรียมการ ขั้นดำเนินการ ขั้นติดตามผลและขั้นปรับปรุงแก้ไข และเพื่อประเมินผลผลิตของโครงการจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ ตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ เกี่ยวกับปริมาณและคุณภาพของผลผลิตผู้เข้าร่วมโครงการ โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบ CIPP Model กลุ่มเป้าหมายของการประเมินโครงการครั้งนี้คือประชากรทั้งหมด ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 2 คน หัวหน้าโครงการ 1 คน ครูผู้สอนในโครงการจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ ตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 12 คน นักเรียน 153 คน และผู้ปกครอง จำนวน 153 คน ได้มาโดยการเลือกแบบแบบเจาะจง (Purposive Selection) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน จำนวน 5 ฉบับ เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ การเก็บรวบรวมข้อมูลโดยผู้ประเมินเก็บรวบรวมเอง การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป ผลการประเมินและข้อเสนอแนะสรุปได้ ดังนี้
ผลการประเมิน
ผลการประเมิน พบว่า ตัวชี้วัด ประเด็นการประเมินทุกประเด็นและภาพรวมของโครงการทั้งหมดมี ดังนี้
1. ผลการประเมินด้านบริบท พบว่า มีความสอดคล้อง ความเหมาะสมกับสภาพปัญหาและสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสงขลา เขต 1 และโรงเรียนวัดแม่เปียะ ซึ่งวัตถุประสงค์ของโครงการ มีความเหมาะสมกับสภาพปัญหา ความต้องการ และความจำเป็นของโรงเรียนในแนวการดำเนินการ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า พบว่า มีความพร้อม ความพอเพียงและการสนับสนุนต่าง ๆ ในด้านบุคลากร งบประมาณ เอกสาร สื่อ วัสดุอุปกรณ์ และการบริหารจัดการโครงการโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการ พบว่า ขั้นเตรียมการ ขั้นดำเนินการ ขั้นประเมินผล และขั้นปรับปรุงแก้ไข มีการปฏิบัติและมีความเหมาะสม โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก
4. ผลการประเมินด้านผลผลิต พบว่า
4.1 ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ของนักเรียนโครงการจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ ตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ ปีการศึกษา 2564 โดยภาพรวม และทุกวิชา คะแนนเฉลี่ยระดับโรงเรียนสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยระดับประเทศ และเมื่อเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยกับนักเรียนห้องเรียนปกติ พบว่า คะแนนเฉลี่ยของนักเรียนห้องเรียนในโครงการจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ ตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของนักเรียนห้องเรียนปกติทุกวิชา
4.2 ความพึงพอใจของผู้อำนวยการโรงเรียน รองผู้อำนวยการโรงเรียน หัวหน้าโครงการ และครูผู้สอนในโครงการจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ ตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีต่อการดำเนินโครงการจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ ตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ พบว่า ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
4.3 ความคิดเห็นของนักเรียนต่อโครงการจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ ตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ พบว่า ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
4.4 ความคิดเห็นของผู้ปกครองต่อโครงการจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ ตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ พบว่า ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
ข้อเสนอแนะในการนำผลการประเมินไปใช้
1. ควรมีการกำหนดบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบของบุคคลที่รับผิดชอบให้ชัดเจน ควรมีการตั้งทีมงานในการติดตามผล และประเมินผลโครงการเป็นระยะ ๆ ให้ชัดเจน และนำผลการประเมิน ในแต่ละระยะมาเป็นข้อมูลในการปรับปรุงในการดำเนินงานขั้นต่อไป
2. ควรปรับปรุงพัฒนาด้านกระบวนการให้มีความพร้อม เพื่อสร้างความพึงพอใจเพิ่มขึ้นจากระดับมากเป็นระดับมากที่สุดเช่นเดียวกับด้านอื่น ๆ
3. ควรมีการนำผลการประเมินโครงการการจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ ตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ เชื่อมโยงกับการประเมินอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนในด้านการประกันคุณภาพภายในและภายนอกสถานศึกษา ตลอดจนกรอบการพัฒนาภาษาอังกฤษของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น
4. ควรมีการเผยแพร่ผลการดำเนินงานต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง เป็นระบบด้วยวิธีการที่หลากหลายเพื่อสร้างการยอมรับ และความเชื่อมั่นมากขึ้น