รายงานการประเมินโครงการพัฒนาทักษะอาชีพเพื่อการมีงานทำของนักเรียน
ผู้รายงาน : นายอับดลรอศักดิ์ มณีโส๊ะ
ตำแหน่ง : รองผู้อำนวยการสถานสึกษา
หน่วยงาน : โรงเรียนกำแพงวิทยา จังหวัดสตูล
ปีที่รายงาน : 2564
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
รายงานการประเมินโครงการพัฒนาทักษะอาชีพเพื่อการมีงานทำของนักเรียนโรงเรียนกำแพงวิทยา ปีการศึกษา 2564 มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินบริบทของโครงการ ปัจจัยนำเข้าของการดำเนินโครงการ กระบวนการของการดำเนินโรงการและผลผลิตของโครงการ กลุ่มตัวอย่างในการประเมินโครงการประกอบด้วย นักเรียนโรงเรียนกำแพงวิทยา กำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างโดยใช้ตารางประมาณค่าขนาดกลุ่มตัวอย่างของเครจซี่และมอร์แกน และสุ่มแบบแบ่งชั้นภูมิ โดยใช้ระดับชั้นเป็นหน่วยการสุ่ม และสุ่มอย่างง่ายโดยวิธีการจับฉลาก ปีการศึกษา 2564 จำนวน 317 คน ครูจำนวน 66 คน ผู้ปกครองผู้ปกครอง กำหนดกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงโดยใช้ผู้ปกครองของนักเรียนที่ได้รับการคัดเลือกเป็นกลุ่มตัวอย่าง ปีการศึกษา 2564 จำนวน 317 คน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน กำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง ยกเว้นผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้แทนครู จำนวน 13 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินมีทั้งหมด 7 ฉบับ ซึ่งเป็นแบบสอบถามที่มีลักษณะเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ มีการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือทุกฉบับ
ผลการประเมินพบว่า
1. ผลการประเมินด้านบริบทหรือสภาพแวดล้อมของโครงการพัฒนาทักษะอาชีพเพื่อการมีงานทำของนักเรียนโรงเรียนกำแพงวิทยา ปีการศึกษา 2564 ตามความคิดเห็นของครู และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ค่าน้ำหนัก 15% พบว่า โดยภาพรวมทุกกลุ่มที่ประเมินมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ได้คะแนนเฉลี่ย 15 ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาตามกลุ่มผู้ประเมิน พบว่า กลุ่มคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีค่าเฉลี่ยสูงสุด อยู่ในระดับมาก ( = 4.17, S.D. = 0.44) ส่วนกลุ่มครู อยู่ในระดับมากเช่นกัน ( = 4.12, S.D. = 0.46) โดยทุกกลุ่มที่ประเมินได้คะแนนเฉลี่ย 15 ผ่านเกณฑ์การประเมิน
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ( = 4.12, S.D. = 0.40) ได้คะแนนเฉลี่ย 15 ผ่านเกณฑ์การประเมินทั้งภาพรวมและทุกประเด็นตัวชี้วัดที่ประเมิน เมื่อพิจารณาตามประเด็นตัวชี้วัด พบว่า ด้านหน่วยงานที่สนับสนุนโครงการ มีค่าเฉลี่ยสูงสุด อยู่ในระดับมาก ( = 4.28, S.D. = 0.48) รองลงมา คือ ด้านความพร้อมของบุคลากร อยู่ในระดับมาก ( = 4.21, S.D. = 0.45) ส่วนด้านความเพียงพอของงบประมาณมีค่าเฉลี่ยต่ำสุด อยู่ในระดับมากเช่นกัน ( = 3.94, S.D. = 0.49)
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการ ตามความคิดเห็นของนักเรียน ครู ผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยภาพรวมทุกกลุ่มที่ประเมินมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ได้คะแนนเฉลี่ย 20 ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาตามกลุ่มผู้ประเมิน พบว่า กลุ่มคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีค่าเฉลี่ยสูงสุด อยู่ในระดับมาก ( = 4.18, S.D. = 0.22) รองลงมา คือ กลุ่มครู อยู่ในระดับมาก ( = 4.13, S.D. = 0.44) ส่วนกลุ่มนักเรียนและกลุ่มผู้ปกครอง มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดเท่ากัน คือ กลุ่มนักเรียน อยู่ในระดับมาก ( = 4.08, S.D. = 0.52) และกลุ่มผู้ปกครอง อยู่ในระดับมากเช่นกัน ( = 4.08, S.D. = 0.55) โดยทุกกลุ่มที่ประเมินได้คะแนนเฉลี่ย 20 ผ่านเกณฑ์การประเมิน
4. ผลการประเมินด้านผลผลิต จำแนกเป็น
4.1 ผลการประเมินด้านผลผลิตของโครงการเกี่ยวกับคุณภาพในการดำเนินโครงการ ตามความคิดเห็นของนักเรียน ครู ผู้ปกครองและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยภาพรวมทุกกลุ่มที่ประเมินมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ได้คะแนนเฉลี่ย 15 ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาตามกลุ่มผู้ประเมิน พบว่า กลุ่มคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีค่าเฉลี่ยสูงสุด มีคุณภาพอยู่ในระดับมาก ( = 4.29, S.D. = 0.28) รองลงมา คือ กลุ่มนักเรียนมีคุณภาพอยู่ในระดับมาก ( = 4.09, S.D.= 0.43) และกลุ่มผู้ปกครอง มีคุณภาพอยู่ในระดับมาก ( = 4.08, S.D.= 0.43) ส่วนกลุ่มครู มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด มีคุณภาพอยู่ในระดับมากเช่นกัน ( = 3.93, S.D.= 0.42) โดยทุกกลุ่มที่ประเมินได้คะแนนเฉลี่ย 15 ผ่านเกณฑ์การประเมิน
4.2 ผลการประเมินด้านผลผลิตของโครงการเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการ ตามความคิดเห็นของนักเรียน ครู ผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยภาพรวมทุกกลุ่มที่ประเมินมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ได้คะแนนเฉลี่ย 10 ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาตามกลุ่มผู้ประเมิน พบว่า กลุ่มคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีค่าเฉลี่ยสูงสุด มีส่วนร่วมอยู่ในระดับมาก ( = 4.37, S.D.= 0.34) รองลงมา คือ กลุ่มนักเรียน มีส่วนร่วมอยู่ในระดับมาก ( = 4.06, S.D. = 0.35) และกลุ่มผู้ปกครอง มีส่วนร่วมอยู่ในระดับมาก ( = 4.05, S.D. = 0.39) ส่วนกลุ่มครู มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด มีส่วนร่วมอยู่ในระดับมากเช่นกัน ( = 4.01, S.D. = 0.41) โดยทุกกลุ่มที่ประเมินได้คะแนนเฉลี่ย 10 ผ่านเกณฑ์การประเมิน
4.3 ผลการประเมินด้านผลผลิตของโครงการ ตามความคิดเห็นของครูและผู้ปกครอง โดยภาพรวมทุกกลุ่มที่ประเมินมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ได้คะแนนเฉลี่ย 15 ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาตามกลุ่มผู้ประเมิน พบว่า กลุ่มครู มีค่าเฉลี่ยสูงสุด มีคุณภาพอยู่ในระดับมาก ( = 4.09, S.D. = 0.35) ส่วนกลุ่มผู้ปกครอง มีคุณภาพอยู่ในระดับมากเช่นกัน ( = 4.06, S.D. = 0.44) โดยทุกกลุ่มที่ประเมินได้คะแนนเฉลี่ย 15 ผ่านเกณฑ์การประเมิน
4.4 ผลการประเมินด้านผลผลิตตามความคิดเห็นของนักเรียน ครู ผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยภาพรวมทุกกลุ่มที่ประเมินมีค่าเฉลี่ยมากกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ได้คะแนนเฉลี่ย 10 ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาตามกลุ่มผู้ประเมิน พบว่า กลุ่มครู มีค่าเฉลี่ยสูงสุด มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก ( = 4.17, S.D. = 0.41) รองลงมา คือ กลุ่มนักเรียน มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก ( = 4.14, S.D. = 0.29) และกลุ่มผู้ปกครอง มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก ( = 4.12, S.D. = 0.32) ส่วนกลุ่มคณะกรรมการสถาน ศึกษาขั้นพื้นฐาน มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากเช่นกัน ( = 4.02, S.D. = 0.42) โดยทุกกลุ่มที่ประเมินได้คะแนนเฉลี่ย 10 ผ่านเกณฑ์การประเมิน
ข้อเสนอแนะ
ข้อเสนอแนะเพื่อนำผลการประเมินไปใช้
1. ผู้บริหารสถานศึกษาควรส่งเสริมสนับสนุนให้ปราชญ์ชาวบ้าน และสถานประกอบการในชุมชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการวิเคราะห์สภาพปัญหาและความต้องการ ร่วมวางแผนการดำเนินงาน และทำความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของปราชญ์ชาวบ้าน และสถานประกอบการในการดูแลนักเรียนที่ไปฝึกทักษะทางด้านอาชีพ ให้คำแนะนำในการปฏิบัติงาน ควบคุมดูแลการปฏิบัติงาน ร่วมมือในการแก้ปัญหาของนักเรียน ให้ความคิดเห็นและเสนอแนะเกี่ยวกับการฝึกทักษะอาชีพของนักเรียน และประเมินทักษะอาชีพของนักเรียนร่วมกับครูที่รับผิดชอบ
2. ผู้บริหารสถานศึกษาควรชี้แจงทำความเข้าใจ สร้างความร่วมมือ สนับสนุนงบประมาณให้เพียงพอสำหรับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ รวมถึงพัฒนาบุคลากรในสถานศึกษาให้สอดคล้องกับการจัดการเรียนการสอนด้านอาชีพ ในส่วนของครูควรกระตุ้นให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมทุกขั้นตอน
3. ผู้บริหารสถานศึกษาและครู ควรจัดประชุมทำความเข้าใจกับนักเรียนถึงบทบาทหน้าที่ของนักเรียนในการเรียนรู้ทางด้านอาชีพตามรูปแบบที่โรงเรียนได้วางไว้ และครูต้องคอยเป็นพี่เลี้ยงให้กับนักเรียนขณะที่นักเรียนทำกิจกรรมสร้างเสริมประสบการณ์อาชีพด้วยตนเอง
4. การดำเนินการสร้างเสริมประสบการณ์อาชีพทั้ง 3 รูปแบบ ควรดำเนินการอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ มีการประสานงานที่ดีและเข้าใจตรงกันของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมทั้งควรมีการประเมินทักษะอาชีพของนักเรียน ตามตัวชี้วัดที่โรงเรียนกำหนดอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพให้กับนักเรียน
5. ควรสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการสร้างเสริมประสบการณ์อาชีพของนักเรียนอย่างหลากหลายตามความสนใจของนักเรียนแต่ละคน
ข้อเสนอแนะเพื่อการประเมินและวิจัยครั้งต่อไป
1. ควรศึกษารูปแบบการประเมินอื่นๆ ที่นอกเหนือจากรูปแบบซิปป์โมเดล (CIPP Model) เพื่อเปรียบเทียบผลการประเมิน
2. ควรมีการศึกษาถึงปัจจัยอื่นที่ส่งผลต่อความสำเร็จของโครงการพัฒนาการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการมีงานทำของนักเรียนอย่างต่อเนื่อง
3. ควรมีการศึกษาวิจัย ประเมินโครงการอื่นๆ ของโรงเรียนทุกโครงการ เพื่อให้การดำเนินโครงการทุกโครงการมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผล