รายงานการประเมินโครงการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ในสถานศึกษาของโรงเรียนสำโรงทาบวิทยาคม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
มัธยมศึกษาสุรินทร์
ผู้วิจัย : นางรัชดาภรณ์ ประคองชื่อ
ตำแหน่ง : รองผู้อำนวยการสถานศึกษา วิทยฐานะ รองผู้อำนวยการชำนาญการ
หน่วยงาน : โรงเรียนสำโรงทาบวิทยาคม อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์
ปีที่ศึกษา : 2564
บทคัดย่อ
รายงานการประเมินโครงการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ประเมินโครงการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษาของโรงเรียนสำโรงทาบวิทยาคม ด้านบริบท 2) ประเมินโครงการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษาของโรงเรียนสำโรงทาบวิทยาคม ด้านปัจจัยนำเข้า 3) ประเมินโครงการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษาของโรงเรียนสำโรงทาบวิทยาคม ด้านกระบวนการ 4) ประเมินโครงการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษาของโรงเรียนสำโรงทาบวิทยาคม ด้านผลผลิต กลุ่มตัวอย่าง คือ บุคลากรโรงเรียนสำโรงทาบวิทยาคม ประกอบด้วย ผู้บริหาร 4 คน ครู 67 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 14 คน และนักเรียน 306 คน รวมทั้งสิ้นจำนวน 391 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือแบบประเมินโครงการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษาของโรงเรียนสำโรงทาบวิทยาคม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัย พบว่า
การประเมินโครงการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษาของโรงเรียนสำโรงทาบวิทยาคม โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า อยู่ในระดับมากที่สุดทุกด้านโดยเรียงค่าเฉลี่ยเลขคณิตจากมากไปน้อยตามลำดับดังนี้ ด้านบริบท ด้านกระบวนการ ด้านปัจจัยนำเข้า และด้านผลผลิต สำหรับแนวทางการพัฒนาการดำเนินงานโครงการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษาของโรงเรียนสำโรงทาบวิทยาคม ควรดำเนินการดังนี้ 1) ด้านบริบท โรงเรียนควรมีการวิเคราะห์ศักยภาพของโรงเรียนและชุมชน เพื่อปรับปรุงและพัฒนาขีดความสามารถในการเตรียมความพร้อมของโรงเรียนในทุก ๆ ด้าน ทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้และต้นแบบศูนย์เรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษาที่ส่งเสริมให้บุคลากรในโรงเรียนมีหลักคิดและหลักปฏิบัติตามหลักความพอเพียงในวิถีชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่อง 2) ด้านปัจจัยนำเข้า ผู้บริหารสถานศึกษาควรสนับสนุนให้ครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานโครงการมีการพัฒนาตนเองเกี่ยวกับความรู้และความสามารถที่ใช้ในการดำเนินงานโครงการ และสร้างแกนนำเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน รักษาความยั่งยืนของการเป็นศูนย์เรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษาให้ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง 3) ด้านกระบวนการ ผู้บริหารสถานศึกษาควรนิเทศ กำกับ และติดตามให้ครูและบุคลากรในโรงเรียนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานโครงการมุ่งพัฒนาการจัดการเรียนรู้สู่การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนสู่มาตรฐานสากลบนพื้นฐานความเป็นไทย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม น้อมนำศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน การพัฒนาครูและบุคลากรใหม่ในโรงเรียนให้สามารถออกแบบหน่วยการเรียนรู้บูรณาการคุณลักษณะอยู่อย่างพอเพียงตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และจัดการเรียนรู้สู่การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนทุกภาคเรียน รวมทั้งการสร้างความตระหนักและพัฒนาความสามารถในการดำเนินงานโครงการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง 4) ด้านผลผลิต โรงเรียนควรพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้บูรณาการคุณลักษณะอยู่อย่างพอเพียงตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และเผยแพร่ผลงานจากการดำเนินงานโครงการในช่องทางหลากหลายเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนและผู้ที่สนใจมีความรู้ความเข้าใจในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้