รายงานผลการประเมินโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียนโรงเรียน
ชื่อเรื่อง : รายงานผลการประเมินโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียนโรงเรียน บ้านสบรวก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
ผู้รายงาน : นางอุมารินทร์ วงศ์เรียน
ปีการศึกษา : 2564
การวิจัย เรื่อง การรายงานผลการประเมินโครงการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมของนักเรียนโรงเรียนบ้านสบรวก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรายงานผลการประเมินโครงการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรม ปีการศึกษา 2564 โดยประยุกต์การนำเนื้อหาสาระจากรูปแบบเนื้อหาของซิปป์ (CIPP MODEL) ของ Daniel L. Stufflebeam ซึ่งประกอบด้วยการดำเนินงาน 4 ด้าน คือ 1) ด้านสภาพแวดล้อม (Context) 2) ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) 3) ด้านกระบวนการ (Process) และ 4) ด้านผลผลิต (Product) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ใช้วิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ประกอบด้วย ครูผู้รับผิดชอบงานโครงการ จำนวน 18 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน ที่ไม่ใช่ผู้บริหารสถานศึกษาและผู้แทนครู นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 146 คน และผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 130 คน รวมทั้งสิ้น จำนวน 301 คน เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูลเป็นการรายงานผลการดำเนินโครงการและแบบสอบถาม จำนวน 5 ฉบับ ฉบับที่ 1-3 แบบสอบถามผลการดำเนินโครงการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมของนักเรียนโรงเรียนบ้านสบรวก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ด้านสภาพแวดล้อม ด้านปัจจัย และด้านกระบวนการ สำหรับครูและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ฉบับที่ 4 แบบสอบถามผลการดำเนินโครงการด้านผลผลิตสำหรับกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครู และผู้ปกครองนักเรียน และฉบับที่ 5 แบบสอบถามความพึงพอใจของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการสำหรับครู กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียนและผู้ปกครองนักเรียน วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และผ่านเกณฑ์การประเมินผลการดำเนินงาน คือ ค่าเฉลี่ยตั้งแต่ 3.51 ขึ้นไป
ผลการวิจัยมี ดังนี้
1. ผลการประเมินด้านสภาพแวดล้อม พบว่า ในภาพรวม มีความสอดคล้องอยู่ในระดับ มากที่สุด มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 4.76 ถ้าพิจารณารายข้อรายการ พบว่า รายการที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด คือ ความสอดคล้องของโครงการกับนโยบายของโรงเรียน และ โครงการมีความเหมาะสมกับบทบาท และหน้าที่ของโรงเรียน อยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 5.00
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า พบว่า ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 4.58 ถ้าพิจารณารายข้อพบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด คือ ข้อ 3 ครู ทุกคนมีความตระหนัก และเห็นความสำคัญโครงการ ข้อ 5 ความรู้ความสามารถของครูและบุคลากรที่ร่วมดำเนินงาน ข้อ 8 วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ในการดำเนิน โครงการเพียงพอ และข้อ 9 บริเวณและพื้นที่ ในการปฏิบัติงานตามโครงการมีความเหมาะสมและเพียงพอ อยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 4.65
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการดำเนินงาน พบว่า ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 4.69 ถ้าพิจารณาข้อรายการ พบว่า รายการมีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด คือ ความร่วมมือ จากผู้ร่วมงาน อยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 4.90
4. ผลการประเมินด้านผลผลิต พบว่า ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 4.59 ถ้าพิจารณารายด้าน พบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด คือ คุณธรรมด้านมีจิตอาสา อยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 4.80
5. ผลการประเมินความพึงพอใจของบุคลากรและผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการที่มีผลต่อ การดำเนินการโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียน โรงเรียนบ้านสบรวก ตามความคิดเห็นของ ครู นักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ปกครองนักเรียน พบว่า ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 4.72 กลุ่มที่มีความพึงพอใจเฉลี่ยสูงที่สุด คือ ครู อยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.82