รายงานผลการประเมินโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมในโรงเรียน
โดยประยุกต์ใช้รูปแบบการประเมินซิป (CIPP Model) ของโรงเรียนอนุราชประสิทธิ์
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 1
ผู้วิจัย นายสิงขร สังข์ประเสริฐ
หน่วยงาน โรงเรียนอนุราชประสิทธิ์ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี
ปี พ.ศ. 2565
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมในโรงเรียน โดยประยุกต์ใช้รูปแบบการประเมินซิป (CIPP Model) ของโรงเรียนอนุราชประสิทธิ์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 1 ประกอบด้วย 1. ด้านบริบทของโครงการ 2. ด้านปัจจัยนำเข้า 3. ด้านกระบวนการ 4. ด้านผลผลิตของโครงการได้แก่ ค่านิยมหลัก 12 ประการ 1. รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ 2. ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน 3. กตัญญูต่อพ่อแม่
ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์ 4. ใฝ่หาความรู้ หมั่นเพียรศึกษา เล่าเรียนทั้งทางตรงและทางอ้อม 5. รักษาวัฒนธรรม ประเพณีไทย 6. มีศีลธรรม รักษาความสัตย์ 7. เข้าใจเรียนรู้การเป็นประชาธิปไตย 8. มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย
ผู้น้อยรู้จักเคารพผู้ใหญ่ 9. มีสติ รู้ตัว รู้คิด รู้ทำ ปฏิบัติตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 10. รู้จักดำรงตนโดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 11. มีความเข้มแข็งทั้งทางร่างกายและจิตใจไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจฝ่ายต่ำ
12. คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมมากว่าประโยชน์ของตนเอง และประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมในโรงเรียน ของโรงเรียนอนุราชประสิทธิ์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 1
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูและบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 - มัธยมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2564 โดยการเลือก แบบเจาะจง จำนวน 715 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นแบบสอบถามประมาณค่า 5 ระดับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาความคิดเห็นเกี่ยวกับบริบทของโครงการ ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ โครงการมีความเหมาะสมและมีความจำเป็นในการแก้ปัญหา ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ กิจกรรมของโครงการสามารถนำไปปฏิบัติจริงได้
2. ผลการศึกษาความคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยนำเข้าของโครงการ ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ กิจกรรมในโครงการมีความเหมาะสมสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ งบประมาณในการดำเนินโครงการมีอย่างเพียงพอ
3. ผลการศึกษาความคิดเห็นเกี่ยวกับกระบวนการดำเนินงานของโครงการ ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ ขณะดำเนินการตามโครงการมีการแก้ไข ปรับปรุงวิธีการดำเนินโครงการ เมื่อพบว่ามีข้อบกพร่อง ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ โรงเรียนมีการเผยแพร่ และขยายผล การปฏิบัติกิจกรรม สู่ชุมชน
4. ผลการศึกษาความคิดเห็นเกี่ยวกับผลผลิตจากการดำเนินโครงการ ด้านค่านิยมหลัก 12 ประการ ของนักเรียน ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก ด้านที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน ส่วนด้านที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ ใฝ่หาความรู้ หมั่นเพียรศึกษาเล่าเรียนทั้งทางตรงและทางอ้อม และเมื่อเรียงลำดับค่านิยมหลัก 12 ประการของนักเรียน สามารถเรียงลำดับได้ดังนี้คือ 1. ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน 2. กตัญญูต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์ 3. รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ 4. ความเข้มแข็งทั้งทางร่างกายและจิตใจไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจฝ่ายต่ำ 5. มีศีลธรรม รักษาความสัตย์ 6. รักษาวัฒนธรรม ประเพณีไทย 7. เข้าใจเรียนรู้การเป็นประชาธิปไตย 8. มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย ผู้น้อยรู้จักเคารพผู้ใหญ่ 9. คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมมากว่าประโยชน์ของตนเอง 10. รู้จักดำรงตนโดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 11. มีสติ รู้ตัว รู้คิด รู้ทำ ปฏิบัติตาม พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 12. ใฝ่หาความรู้ หมั่นเพียรศึกษาเล่าเรียนทั้งทางตรงและทางอ้อม
5. ผลการศึกษาความคิดเห็นเกี่ยวกับผลผลิตจากการดำเนินโครงการ ด้านประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ สามารถรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ และนำมาปรับและประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานหรือทำกิจกรรมอื่นๆ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาตนเองและพัฒนาครอบครัว ที่มีค่าเฉลี่ยเท่ากัน ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ สามารถเลือกแนวทางและการปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสม