รายงานการประเมินผลโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนเพื่อพัฒนาค
นักเรียนโรงเรียนบ้านโคกกระเจียว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา
ปราจีนบุรีเขต 1 ปีการศึกษา 2564
ชื่อผู้ประเมิน นางสาววิไลรัตน์ จันธิมา
ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถานศึกษา วิทยฐานะชำนาญการ
ปีการศึกษา 2564
บทคัดย่อ
รายงานการประเมินผลโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนเพื่อพัฒนาคุณภาพนักเรียนโรงเรียนบ้านโคกกระเจียว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปราจีนบุรีเขต 1 ปีการศึกษา 2564 ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลการดำเนินงานโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ตามรูปแบบซิปป์ (CIPP Model) 4 ด้าน ได้แก่ ด้านสภาวะแวดล้อม ด้านปัจจัยเบื้องต้น ด้านกระบวนการและด้านผลผลิต เพื่อประเมินความคิดเห็นของครูนักเรียนและผู้แทนชุมชนที่มีต่อการดำเนินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ประกอบด้วย ครู จำนวน 5 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 24 คน ผู้แทนชุมชน ได้แก่ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครองนักเรียน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองโพรง หมู่ที่ 1,2 เจ้าหน้าที่สาธารณสุขโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองโพรง จำนวน 35 คน รวมทั้งสิ้นจำนวน 64 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการ คือแบบสอบถาม ที่ผู้ประเมินสร้างขึ้น ซึ่งมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.96 มีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนทั้งสิ้น 64 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 100 สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการประเมินสรุปได้ดังนี้
1. การประเมินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนด้านสภาวะแวดล้อมของโครงการ ภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก เมื่อเรียงค่าเฉลี่ยจากมากลงมาสามอันดับ ได้แก่ ครูมีการดำเนินการดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างเป็นระบบต่อเนื่อง รองลงมา คือ การจัดระบบการนิเทศกำกับ ติดตามโครงการ อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ และกิจกรรมของโครงการสอดคล้องกับความต้องการของโรงเรียน ทั้งสามอันดับผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนอันดับสุดท้าย ได้แก่ครูและบุคลากรมีเวลาในการดำเนินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ผลการประเมินอยู่ในระดับมาก
2. การประเมินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ด้านปัจจัยเบื้องต้นของโครงการภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก เมื่อเรียงจากค่าเฉลี่ยจากมากลงมาสามอันดับ ได้แก่ โครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนกำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการของโรงเรียน ผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมา คือ ผู้บริหารให้ความสำคัญ เป็นผู้นำในการสนับสนุนส่งเสริมในการทำงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน และโรงเรียนมีแผนในการทำงานโดยประสานความร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่างเป็นระบบ ผลการประเมินอยู่ในระดับมาก ส่วนอันดับสุดท้าย ได้แก่ มีจำนวนบุคลากรดำเนินกิจกรรมโครงการอย่างเพียงพอ ผลการประเมินอยู่ในระดับมาก
3. การประเมินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ด้านกระบวนการของโครงการภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก เมื่อเรียงจากค่าเฉลี่ยจากมากลงมาสามอันดับ พบว่าอันดับสูงสุด ได้แก่ มีการนิเทศ กำกับ ติดตามการดำเนินโครงการตามขั้นตอน ผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมา คือ โรงเรียนมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ส่งเสริมให้นักเรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ โดยใช้กิจกรรมโฮมรูม กิจกรรมครูแดร์ กิจกรรมโรงเรียนวิถีพุทธ กิจกรรมชุมนุม ตามความสนใจ ผลการประเมินอยู่ในระดับมาก และครูประจำชั้นได้มีการประสานสัมพันธ์กับผู้ปกครอง โดยใช้กิจกรรมประชุมผู้ปกครองชั้นเรียน (Classroom Meeting) อย่างน้อยภาคเรียนละ 1 ครั้ง หรือแล้วแต่กรณี ผลการประเมินอยู่ในระดับมาก ส่วนอันดับสุดท้าย ได้แก่ มีการคัดกรองนักเรียนเป็นกลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง/กลุ่มมีปัญหา เป็นรายห้องและภาพรวมรายโรงเรียนผลการประเมินอยู่ในระดับมาก
4. การประเมินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ด้านผลผลิตของโครงการ ภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก เมื่อเรียงค่าเฉลี่ยจากมากลงมาสามอันดับ ได้แก่ ครู และบุคลากร นักเรียนและผู้แทนชุมชนมีความตระหนักถึงความสำคัญของระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน รองลงมา คือ นักเรียน มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนผ่านเกณฑ์การประเมินตามหลักสูตรทุกวิชา และอันดับสาม ได้แก่ ครูและบุคลากร นักเรียน และผู้แทนชุมชนมีความภาคภูมิใจในการเข้าร่วมโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ทุกอันดับมีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนอันดับสุดท้าย ได้แก่ นักเรียนได้รับความช่วยเหลือด้านทุนการศึกษาและอุปกรณ์ การเรียนและอื่น ๆ มีความเป็นอยู่ด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตที่เหมาะสม ผลการประเมิน อยู่ในระดับมาก
5. การประเมินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน สรุปรวมทุกด้าน มีระดับการประเมินอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายด้านและเรียงค่าเฉลี่ยจากมากลงมา ได้แก่ ด้านผลผลิตของโครงการ รองลงมา คือ ด้านสภาวะแวดล้อมของโครงการและด้านกระบวนการของโครงการของโครงการ อันดับสุดท้าย คือ ด้านปัจจัยเบื้องต้นของโครงการ