รายงานการประเมินโครงการเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอน โดยใช้..
เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน จำนวน 4 ฉบับ เป็นแบบสอบถามทั้ง 4 ฉบับ การเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีใช้แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที (t-test) ผลการประเมินและข้อเสนอแนะสรุปได้ ดังนี้
ผลการประเมิน
ผลการประเมิน พบว่า ตัวชี้วัด ประเด็นการประเมินทุกประเด็นและภาพรวมของโครงการทั้งหมด มีดังนี้
1. ผลการประเมินด้านบริบท (Context) พบว่า มีความสอดคล้องกับความมุ่งหมายของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ /สพฐ./สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา/โรงเรียน วัตถุประสงค์ของโครงการมีความเหมาะสมกับสภาพปัญหา
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า (Input) พบว่า มีความพร้อม ความพอเพียงและการสนับสนุนต่าง ๆ ในด้านบุคลากร งบประมาณ เอกสาร สื่อ วัสดุอุปกรณ์ และการบริหารจัดการโครงการ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการ (Process) พบว่า ขั้นเตรียมการ ขั้นดำเนินการ ขั้นประเมิลผลและขั้นปรับปรุงแก้ไข มีการปฏิบัติและมีความเหมาะสม โดยภาพรวมอยู่ในระดับ มากที่สุด
4. ผลการประเมินด้านผลผลิต (Product) พบว่า
4.1 ปีการศึกษา 2563 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีงานวิจัย ในชั้นเรียนมากที่สุด และเมื่อเปรียบเทียบการทำวิจัยในชั้นเรียนของครู โรงเรียนบางปะอิน “ราชานุเคราะห์ ๑” ระหว่างปีการศึกษา 2563 กับปีการศึกษา 2564 พบว่า ครูโรงเรียนบางปะอิน “ราชานุเคราะห์ ๑” ทำวิจัยในชั้นเรียนเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 100.00
4.2 ผลการพัฒนาครูและสนับสนุนการจัดการเรียนการสอน ก่อนและหลังการดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนโดยใช้กระบวนการวิจัยในชั้นเรียน พบว่า ผลการพัฒนาครูและสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนหลังการดำเนินโครงการสูงกว่าก่อนการดำเนินโครงการ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4.3 ผลการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนก่อนและหลังการจัดการพัฒนา การจัดการเรียนการสอนของครูโดยใช้กระบวนการวิจัยในชั้นเรียน ในปีการศึกษา 2564 มีจำนวน 104 เรื่อง โดยในแต่ละเรื่องมีการนำกระบวนการวิจัยในชั้นเรียนมาใช้ พบว่า การวิจัยในชั้นเรียนของครูสามารถพัฒนานักเรียนให้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น และสามารถแก้ไขพฤติกรรมเชิงลบทางการเรียนได้
4.4 ผลการประเมินความพึงพอใจของนักเรียนต่อการใช้กระบวนการวิจัยในชั้นเรียนของครู โรงเรียนบางปะอิน “ราชานุเคราะห์ ๑” พบว่า ในภาพรวมนักเรียนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด
ข้อเสนอแนะ
ข้อเสนอแนะสำหรับการนำผลการประเมินไปใช้
1. การประเมินครั้งนี้ สภาพการทำวิจัยในชั้นเรียนของครูผู้สอน โรงเรียนบางปะอิน “ราชานุเคราะห์ ๑” อยู่ในระดับมาก ดังนั้นจึงควรสร้างความตระหนัก ความสำคัญเรื่องแนวคิดและแสวงหาความรู้ใหม่ในการทำวิจัยในชั้นเรียนแก่ครูมากขึ้น เพื่อให้การทำวิจัยในชั้นเรียนของครูประสบความสำเร็จมากขึ้น ส่งผลต่อการนำไปใช้พัฒนาและปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอนในชั้นเรียนให้เกิดผลต่อนักเรียนต่อไป
2. ในสภาพการทำวิจัยในชั้นเรียนของครูผู้สอนนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านต่าง ๆ ที่มีผลต่อการทำวิจัยในชั้นเรียน ทั้งในด้านบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยในชั้นเรียน และด้านทักษะในการวิจัย ในชั้นเรียน ดังนั้นจึงควรส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการพัฒนาในด้านบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย ในชั้นเรียน ควรมีที่ปรึกษาการทำวิจัยในชั้นเรียนโดยมีการแต่งตั้งครูผู้เชี่ยวชาญด้านการทำวิจัยคอยเป็นที่ปรึกษาแก่ครูผู้สอนที่ต้องการ และจัดอบรมสนับสนุนให้ครูผู้สอนเกิดทักษะในการทำวิจัยให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบันมากขึ้น
ข้อเสนอแนะสำหรับการประเมินครั้งต่อไป
1. ควรทำการศึกษารูปแบบหรือกระบวนการในการจัดอบรมการทำวิจัยในชั้นเรียนที่ส่งผลต่อการทำวิจัยในชั้นเรียนของครูผู้สอน เพื่อเป็นการพัฒนาประสิทธิภาพการทำวิจัยในชั้นเรียนของครูผู้สอนให้ดียิ่งขึ้น และมีประสิทธิภาพรอบด้านมากยิ่งขึ้น
2. ผู้บริหารโรงเรียนควรให้ความสำคัญต่อการดำเนินการของโครงการอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนให้ครูได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นร่วมรับผิดชอบในการปฏิบัติงาน
3. ควรมีการสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานร่วมกันของครูในโรงเรียนทุกฝ่าย ให้บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ เป้าหมาย ที่วางไว้