การประเมินโครงการพัฒนากระบวนการและการจัดการกลุ่มบริหารงบประมาณ
โรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ฯ ปีการศึกษา 2564
ชื่อผู้รายงาน : นางสาวปัทมา ตันไพบูลย์
ตำแหน่ง : รองผู้อำนวยการ
สถานศึกษา : โรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ฯ
ปีการศึกษา : 2564
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการพัฒนากระบวนการและการจัดการ กลุ่มบริหารงบประมาณ โรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ฯ ปีการศึกษา 2564 ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรายงานผลการประเมิน 1) ด้านบริบทของโครงการพัฒนากระบวนการและการจัดการ กลุ่มบริหารงบประมาณ โรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ฯ ปีการศึกษา 2564 2) ด้านปัจจัยนำเข้าโครงการพัฒนากระบวนการและการจัดการ กลุ่มบริหารงบประมาณ โรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ฯ ปีการศึกษา 2564 3) ด้านกระบวนการโครงการพัฒนากระบวนการและการจัดการ กลุ่มบริหารงบประมาณ โรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ฯ ปีการศึกษา 2564 4) ด้านผลผลิตโครงการพัฒนากระบวนการและการจัดการ กลุ่มบริหารงบประมาณ โรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ฯ ปีการศึกษา 2564 โดยใช้รูปแบบการประเมินซิป (CIPP Model) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินประกอบด้วยครู บุคลากร นักเรียนและผู้ปกครองนักเรียนในปีการศึกษา 2564 โดยกลุ่มตัวอย่างที่เลือกแบบเจาะจงเป็นผู้บริหาร จำนวน 4 คน ยกเว้นผู้รายงาน ครู จำนวน 118 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนสายน้ำผึ้งในพระอุปถัมภ์ฯ จำนวน 15 คน และกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักเรียน จำนวน 332 คน และผู้ปกครองนักเรียน 332 คน เลือกตามตารางของเครจซี่และมอร์แกน (Krejcie & Morgan) รวมทั้งสิ้น จำนวน 801 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการ ประกอบด้วยแบบสอบถาม แบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ จำนวน 4 ฉบับ เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการ ประกอบด้วย แบบสอบถาม จำนวน 4 ฉบับ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสอบถาม การประเมิน และการบันทึกข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการประเมิน พบว่า
1. ผลการประเมินด้านบริบท (Context Evaluation) ของโครงการโดยรวมผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.42 และผลการประเมินของตัวชี้วัดผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 2 ตัวชี้วัด คือ ความสอดคล้องของวัตถุประสงค์โครงการกับนโยบายทางการศึกษาอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.40 และความสอดคล้องของความต้องการและความคาดหวัง
ต่อโครงการมีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.43
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) ของโครงการโดยรวม ผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.32 และผลการประเมินของตัวชี้วัดผ่านเกณฑ์การประเมินและอยู่ในระดับมากทั้ง 4 ชี้วัด คือ ความพร้อมและความเหมาะสมของบุคลากร มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.39 ความพร้อมและความเหมาะสมของงบประมาณ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.19 ความพร้อมและความเหมาะสมของสื่อและวัสดุอุปกรณ์ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.27 และความพร้อมและความเหมาะสมของรูปแบบการจัดกิจกรรม มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.42
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการ (Process Evaluation) ของโครงการโดยรวมผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.43 และผลการประเมินของตัวชี้วัดผ่านเกณฑ์การประเมินและอยู่ในระดับมากทั้ง 4 ตัวชี้วัด คือ ความเหมาะสมของการวางแผน มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.46 ความเหมาะสมของการดำเนินงาน มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.41 ความเหมาะสมของการประเมินผล
มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.39 และความเหมาะสมของการปรับปรุงและพัฒนา มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.47
4. ผลการประเมินด้านผลผลิต (Product Evaluation) ของโครงการโดยภาพรวม ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.41 ผลการประเมินของตัวชี้วัดผ่านเกณฑ์การประเมินและอยู่ในระดับมากทั้ง 2 ตัวชี้วัด คือ ผลผลิตเชิงปริมาณของโครงการมีความพึงพอใจในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.37 ผลผลิตเชิงคุณภาพของโครงการ มีความพึงพอใจในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.46