รายงานการประเมินโครงการพัฒนาการบริหารงบประมาณเพื่อการศึกษา
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต 2
ผู้รายงาน นางสาววันวิสา ฉ่ำสมบูรณ์
ปีที่ประเมิน ปีการศึกษา 2564
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการพัฒนาการบริหารงบประมาณเพื่อการศึกษา ของโรงเรียนวัดเขียนเขต มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อประเมินด้านบริบท (Context Evalution) ด้านปัจจัยนำเข้า (Input Evalution)ด้านกระบวนการ (Process Evaluation) และด้านผลผลิต (Product Evaluation) ของโครงการ โดยใช้รูปแบบการประเมินตามแบบจำลองซิปป์ (CIPP Model) (Stufflebeam,1989) การประเมินโครงการในครั้งนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงประเมิน (Evaluation Research) ด้านประชากร (ผู้ให้ข้อมูล) ที่ใช้ในครั้งนี้ ประกอบด้วย ผู้บริหารและครูที่ปฏิบัติงานประจำที่โรงเรียนวัดเขียนเขต สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต 2 ปีการศึกษา 2564 จำนวน 135 คน ด้านเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการ คือ แบบประเมินโครงการที่ผู้รายงานสร้างและพัฒนาขึ้น เป็นแบบสอบถามประมาณค่า 5 ระดับของลิเคอร์ท (Likert) มีระดับในการประเมิน 5 ระดับ ตั้งแต่ น้อยที่สุด ไปจนถึงมากที่สุด จำนวน 4 ฉบับ รวม 82 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามทั้งฉบับเท่ากับ 0.98 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย (μ) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (σ) โดยผลการประเมินโครงการสรุปได้ดังนี้
การประเมินด้านบริบท พบว่า ภาพรวมผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด โดยวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการ มีความชัดเจนสอดคล้องกับวิธีดำเนินการมีค่าเฉลี่ยสูงสุด ส่วนการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานภายนอกในการดำเนินโครงการมีค่าเฉลี่ยต่ำสุด
การประเมินด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ พบว่า ภาพรวมผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด โดยผู้บริหารมีความรู้ความเข้าใจ ในการวางแผนการดำเนินงานและการบริหารโครงการมีค่าเฉลี่ยสูงสุด ส่วนการระดมทรัพยากรจากภายนอกมาใช้ในการดำเนินงานตามโครงการมีค่าเฉลี่ยต่ำสุด
การประเมินด้านกระบวนการของโครงการ พบว่า ภาพรวมผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุดโดยการประชุมชี้แจง สื่อสารประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้กับผู้รับผิดชอบและผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าใจขั้นตอนวิธีดำเนินโครงการมีค่าเฉลี่ยสูงสุด ส่วนการพัฒนาการดำเนินงานด้านงบประมาณโดยยึดหลักการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด
การประเมินด้านผลผลิตของโครงการ พบว่า ภาพรวมผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด โดยผลการดำเนินโครงการสนองนโยบายของโรงเรียนมีค่าเฉลี่ยสูงสุด ส่วนการบริหารจัดการงบประมาณ การตรวจสอบติดตามงบประมาณ การรายงานผลการใช้งบประมาณที่เป็นระบบมีค่าเฉลี่ยต่ำสุด