การประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อประเมินสภาวะแวดล้อมของโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน 2) เพื่อประเมินปัจจัยเบื้องต้นของโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน 3) เพื่อประเมินกระบวนการของโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน 4) เพื่อประเมินผลผลิตของโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนโนนสะอาดพิทยาสรรค์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาอุดรธานี อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ผู้วิจัยใช้วิธีการประเมินของ Danial L. Stufflebeam รูปแบบการประเมินแบบ CIPP Model เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการสอบถามความคิดเห็นและการสัมภาษณ์ความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้องกับโครงการ 5 กลุ่ม ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 2 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 8 คน ครูประจำชั้น จำนวน 24 คน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ปีการศึกษา 2564 จำนวน 240 คน และผู้ปกครองนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ปีการศึกษา 2564 จำนวน 240 คน และการตรวจสอบเอกสารโครงการ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ และแบบตรวจเอกสาร การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าสถิติ คือ ค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (%) ค่าเฉลี่ย ( ) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนโนนสะอาดพิทยาสรรค์
ปีการศึกษา 2564 โดยภาพรวม พบว่า ครู นักเรียน ผู้ปกครอง ผู้บริหารสถานศึกษา และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ความคิดเห็นว่ามีความเหมาะสมสอดคล้องอยู่ในระดับมาก
2. ผลการประเมินด้านสภาพแวดล้อม ในภาพรวม พบว่า มีความเหมาะสมสอดคล้องอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือวัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่มีปัญหาด้านการเรียน สุขภาพอนามัย สภาพแวดล้อมทางสังคมและพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ และข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ วัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อให้ผู้เรียนเป็นคนดี มีความสุข มีความสามารถทางสติปัญญาเพียบพร้อมด้วยคุณธรรม จริยธรรม และดำรงตนอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข
3. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า ในภาพรวม พบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ หลักสูตรสถานศึกษา เหมาะสมในการนำไปจัดการเรียน และข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ งบประมาณของโครงการเหมาะสมเพียงพอ
4. ผลการประเมินด้านกระบวนการ ในภาพรวม พบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ มีการจัดกิจกรรมตำรวจจิตอาสาจราจรอย่างสม่ำเสมอ โดยครูเป็นแบบอย่าง ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ การมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบมีความเหมาะสม
5. ผลการประเมินด้านผลผลิต ในภาพรวม พบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ ครู นักเรียน และผู้ปกครอง ร้อยละ 80 เข้าร่วม/มีส่วนร่วม โครงการ/กิจกรรมระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน และข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ นักเรียนมีคุณธรรม จริยธรรม ตามคุณลักษณะอันพึงประสงค์
ผลการศึกษาสภาพปัญหาและแนวทางการพัฒนาปรับปรุง โครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนโนนสะอาดพิทยาสรรค์ ปีการศึกษา 2564 พบว่า มีปัญหาและข้อเสนอแนะต่างๆ ดังนี้
1. ด้านสภาพแวดล้อม พบว่า วัตถุประสงค์บางกิจกรรมในโครงการไม่ชัดเจน อันเนื่องมาจากการวัดและประเมินผลของโครงการไม่ครอบคลุมส่งผลให้ข้อมูลไม่สมบูรณ์ ควรมีการดำเนินการสำรวจข้อมูล ปัญหา ความต้องการของผู้เกี่ยวข้องทุกปีการศึกษา และวิเคราะห์สภาพแวดล้อมของโรงเรียนและวิเคราะห์นักเรียนเป็นรายบุคคล
2. งบประมาณของโครงการไม่เพียงพอ สาเหตุมาจากระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากขึ้น ส่งผลให้หน่วยงาน สถานศึกษา และคณะดูงานต่างๆ มาเยี่ยมชม ศึกษาดูงานเพิ่มขึ้น จึงทำให้งบประมาณที่จัดเตรียมไว้ตั้งแต่เริ่มเขียนโครงการไม่เพียงพอกับที่ต้องใช้จ่ายจริง ดังนั้นแนวทางพัฒนาปรับปรุง คือควรเพิ่มงบประมาณของโครงการ รวมทั้ง เสนอโครงการบรรจุในแผนการจัดการศึกษา เพื่อขอการสนับสนุนงบประมาณจากต้นสังกัดต่อไป
3. ด้านกระบวนการ พบว่า การมอบหมายหน้าที่ ความรับผิดชอบไม่เหมาะสมกับความถนัดของบุคลากร ทำให้ผลลัพธ์ของโครงการไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ควรดำเนินการโดยมีคำสั่งมอบหมายงานให้เหมาะสมกับความถนัดของบุคลากร
4. ด้านผลผลิต พบว่า นักเรียนบางกลุ่มมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไม่ผ่านตามเกณฑ์ที่ทางโรงเรียนกำหนด อาจเนื่องจากกิจกรรมที่จัดทำขึ้นเพื่อวัดประเมินผลคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไม่ครอบคลุมทุกตัวชี้วัด จึงมีแนวทางโดยการเพิ่มกิจกรรมอบรมคุณธรรม จริยธรรมให้กับนักเรียนทุกระดับชั้น โดยมีคุณครูให้ความรู้ ให้คำแนะนำ ชี้แนะ คอยช่วยเหลือนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมการอบรม
คำสำคัญ : การประเมินโครงการ, ระบบดุแลช่วยเหลือนักเรียน, รูปแบบการประเมินแบบ CIPP Model