การพัฒนาคู่มือการบริหารงานวิชาการวิถีใหม่ (New Normal)
ผู้วิจัย นางสาวสิตา ดัชถุยาวัตร
โรงเรียน โรงเรียนหมื่นศรีประชาสรรค์ ตำบลหมื่นศรี อำเภอสำโรงทาบ จังหวัด สุรินทร์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุรินทร์ เขต 1
ปีที่พิมพ์ 2565
บทคัดย่อ
งานวิจัยเรื่อง การพัฒนาคู่มือการบริหารงานวิชาการวิถีใหม่ (New Normal) ของโรงเรียนหมื่นศรีประชาสรรค์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุรินทร์ เขต 1 มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์ในการบริหารงานวิชาการวิถีใหม่ (New Normal) ของโรงเรียนหมื่นศรีประชาสรรค์ 2) เพื่อศึกษาแนวทางการบริหารงานวิชาการวิถีใหม่ (New Normal) จากโรงเรียนที่มีวิธีปฏิบัติที่ดี 3) เพื่อจัดทำคู่มือและประเมินคู่มือการบริหารงานวิชาการวิถีใหม่ (New Normal) ของโรงเรียนหมื่นศรีประชาสรรค์ และ 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของผู้บริหาร และครู ที่มีต่อคู่มือที่ได้สร้างขึ้น ในการเก็บรวบรวมข้อมูลแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้ การประชุมกลุ่มย่อยโดยใช้ แบบวิเคราะห์สภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์ในการบริหารงานวิชาการวิถีใหม่ (New Normal) ของโรงเรียนหมื่นศรีประชาสรรค์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุรินทร์ เขต 1 จากนั้นใช้แบบสัมภาษณ์เพื่อศึกษาแนวทางการบริหารงานวิชาการจากโรงเรียนที่มีวิธีปฏิบัติที่ดี และใช้แบบประเมินคู่มือเพื่อหาประสิทธิภาพของคู่มือการวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์ข้อมูล เชิงเนื้อหา ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ 1) กลุ่มผู้ร่วมวิจัย จํานวน 10 คน ประกอบด้วยผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 1 คน ครูโรงเรียนหมื่นศรีประชาสรรค์ จํานวน 9 คน การดำเนินการในระยะในปีการศึกษา 2564 ถึงภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 ผลการวิจิยพบว่า
1. สภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์ในการบริหารงานวิชาการวิถีใหม่ของโรงเรียนหมื่นศรีประชาสรรค์ ปัจจัยภายในองค์กรพบจุดอ่อน ได้แก่โรงเรียนไม่มีคู่มือปฏิบัติงานด้านการบริหารงานวิชาการในภาวะวิกฤตโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ( COVID – 19) ครูไม่มีความเข้าใจในขอบข่ายงานด้านการบริหารงานวิชาการเบื้องต้น หลักสูตรสถานศึกษามีเนื้อหามากเกินไป ครูมีภาระงานนอกมากทำให้มีเวลาสอนน้อยจึงส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของ ผู้เรียนยังไม่บรรลุเป้าประสงค์ที่ตั้งไว้ มีความต้องการพัฒนางานวิชาการในขอบข่ายงาน 5 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา ด้านกระบวนการจัดการเรียนรู้ ด้านการวัดผลประเมินผล การเทียบโอนผลการเรียน ด้านสื่อนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา และด้านการนิเทศการศึกษา
2. แนวทางการบริหารงานวิชาการจากโรงเรียนที่มีวิธีปฏิบัติที่ดี ในภาวะวิกฤติโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ( COVID – 19) ในวิชาการ 5 ด้าน ดังนี้
2.1 ด้านการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา ควรมีการวางแผนพัฒนาหลักสูตร ส่งเสริม ครูให้มีความรู้ในการวิเคราะห์หลักสูตรและให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา
2.2 ด้านการพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้ครูต้องจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ ปรับเปลี่ยนวิธีคิด มีเทคนิควิธีการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และนำภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้าสู่การเรียนการสอน
2.3 ด้านการวัดผลประเมินผลและเทียบโอนผลการเรียน ในการวัดผลและประเมินผล จากสภาพจริง ด้วยวิธีที่ที่หลากหลายโดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลและสอดคล้องกับสถานสถานการณ์ในช่วงภาวะวิกฤติโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ( COVID – 19)
2.4 ด้านการพัฒนาสื่อนวตักรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา ส่งเสริมครูให้พัฒนา สื่อนวัตกรรมการเรียนการสอนอยู่เสมอ และจัดหาสื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัยมีความเหมาะสมตรงกับความต้องการของครูและผู้เรียน
2.5 ด้านการนิเทศการศึกษา มีการจัดทำแผนปฏิบัติการนิเทศภายในโดยกำหนดปฏิทิน การนิเทศอย่างชัดเจน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในช่วงภาวะวิกฤติโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19)
3. ผลการหาประสิทธิภาพของคู่มือการบริหารงานวิชาการวิถีใหม่ (New Normal) ของโรงเรียนหมื่นศรีประชาสรรค์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุรินทร์ เขต 1 มีคุณภาพอยู่ในระดับดีมาก ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านความถูกต้อง ด้านความเหมาะสม ด้านความเป็นไปได้ และด้านความเป็นประโยชน์
4.ความพึงพอใจที่มีต่อคู่มือการบริหารงานวิชาการวิถีใหม่ (New Normal) ของโรงเรียนหมื่นศรีประชาสรรค์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุรินทร์ เขต 1 โดยภาพรวม ผู้บริหารสถานศึกษาและครู มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด