รูปแบบการนิเทศเพื่อพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้ที่เน้นทักษ
ชื่อผู้วิจัย สาลินี จงใจสุรธรรม ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพัทลุง เขต 1
ปีที่ศึกษา 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนารูปแบบการนิเทศเพื่อพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้ที่เน้นทักษะการแก้ปัญหาของครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพัทลุง เขต 1 2) ประเมินผลการใช้รูปแบบการนิเทศเพื่อพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้ที่เน้นทักษะการแก้ปัญหาของครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพัทลุง เขต 1 และ 3) ศึกษาความพึงพอใจของครูที่มีต่อการนิเทศและใช้รูปแบบการนิเทศเพื่อพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้ ที่เน้นทักษะการแก้ปัญหาของครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพัทลุง เขต 1 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการพัฒนารูปแบบ ได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Selection) จากผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาหลักสูตร ด้านการนิเทศการศึกษา และด้านการวิจัยทางการศึกษา ดังนี้ 1) ผู้เชี่ยวชาญในการประเมินความเหมาะสมและเป็นไปได้ของรูปแบบการนิเทศ จำนวน 7 คน 2) ผู้เชี่ยวชาญในการประเมินคุณภาพของรูปแบบการนิเทศ จำนวน 7 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการพัฒนาชุดนิเทศการจัดการเรียนรู้ ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญในการประเมินความเหมาะสมและเป็นไปได้ของ ชุดนิเทศ จำนวน 7 คน และครูผู้สอนคณิตศาสตร์ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 22 คน ได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Selection) สำหรับการประเมินผลการใช้รูปแบบการนิเทศ กลุ่มตัวอย่างเป็นครูผู้สอนคณิตศาสตร์ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 35 คน โดยใช้วิธีเลือกแบบเจาะจง (Purposive Selection) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ชุดนิเทศการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นทักษะการแก้ปัญหา จำนวน 4 เล่ม ประกอบด้วย (1) คู่มือนิเทศการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ (2) ทักษะการแก้ปัญหา (3) การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นทักษะการแก้ปัญหา และ (4) การวัดและประเมินผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นทักษะการแก้ปัญหา เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ 1) แบบสอบถามความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของรูปแบบการนิเทศและชุดนิเทศ 2) แบบประเมินคุณภาพของรูปแบบการนิเทศ 3) แบบทดสอบวัดความรู้ความเข้าใจของครู 4) แบบประเมินความสามารถในการจัดการเรียนรู้ของครู 5) แบบประเมินทักษะการแก้ปัญหาของนักเรียน และ 6) แบบสอบถามความพึงพอใจของครู การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าเฉลี่ย ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน หาประสิทธิภาพของชุดนิเทศโดยใช้เกณฑ์ E1/E2 และการทดสอบค่าที (t-test)
ผลการวิจัยพบว่า 1) รูปแบบการนิเทศเพื่อพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้ที่เน้นทักษะการแก้ปัญหาของครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพัทลุง เขต 1 เรียกว่า รูปแบบการนิเทศแบบ ADSERA ประกอบด้วย 6 ขั้นตอน ได้แก่ (1) Analyzing: A วิเคราะห์และวางแผน (2) Developing: D พัฒนาการจัดการเรียนรู้ (3) Supervising: S ดำเนินการนิเทศ (4) Evaluation: ประเมินผล (5) Report: R รายงานผล และ (6) Accountabiliting: A เผยแพร่ผล โดยผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่า รูปแบบดังกล่าวมีความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และมีประโยชน์ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก และมีคุณภาพอยู่ในระดับมาก 2) ผลการประเมินผลการใช้รูปแบบการนิเทศเพื่อพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้ที่เน้นทักษะการแก้ปัญหาของครูผู้สอนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพัทลุง เขต 1 พบว่า 2.1) ความรู้ความเข้าใจของครูด้านความสามารถในการจัดการเรียนรู้ที่เน้นทักษะการแก้ปัญหา หลังได้รับการนิเทศโดยใช้รูปแบบการนิเทศเพื่อพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้ที่เน้นทักษะการแก้ปัญหา สูงกว่าก่อนการนิเทศ โดยใช้รูปแบบการนิเทศเพื่อพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้ที่เน้นทักษะการแก้ปัญหาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2.2) ความสามารถของครูในการจัดการเรียนรู้ที่เน้นทักษะการแก้ปัญหาอยู่ในระดับดี 2.3) ทักษะการแก้ปัญหาของนักเรียนอยู่ในระดับดี และ 3) ผลการศึกษาความพึงพอใจของครูที่มีต่อการใช้รูปแบบการนิเทศเพื่อพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้ที่เน้นทักษะการแก้ปัญหาอยู่ในระดับมาก