เผยแพร่ผลงานวิจัย การประเมินโครงการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา
วิรัช ชูสิน : การประเมินโครงการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษามุ่งสู่โรงเรียนต้นแบบลูกเสือ โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี ๒ สงขลา. 2564, 299 หน้า
การวิจัยครั้งนี้เป็นการประเมินโครงการโดยใช้รูปแบบซิปป์โมเดล (CIPP Model) ที่ประเมินด้านบริบท (C) ปัจจัยนำเข้า (I) กระบวนการ (P) และด้านผลผลิต (P) เก็บรวบรวมข้อมูลจากประชากรและกลุ่มตัวอย่าง 6 กลุ่ม คือ ครูผู้รับผิดชอบโครงการ ผู้บริหารสถานศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูผู้สอนหรือผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ ผู้ปกครอง และนักเรียน มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการในด้านบริบท ปัจจัยนำเข้า กระบวนการ และด้านผลผลิตจากการดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษามุ่งสู่โรงเรียนต้นแบบลูกเสือ โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี ๒ สงขลา เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แบบสำรวจความคิดเห็น แบบสัมภาษณ์ และแบบประเมินผลการจัดกิจกรรม จำนวนรวม 6 ฉบับ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ข้อมูลจากแบบสัมภาษณ์ ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่นๆ วิเคราะห์ด้วยการแจกแจงความถี่และวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) โดยสรุปเป็นประเด็นสำคัญ และนำเสนอในลักษณะความเรียง
ผลการวิจัยสรุปได้ ดังนี้
1. ผลการประเมินด้านบริบท ได้แก่ 1) ผลการสำรวจความต้องการจำเป็น ในด้านความต้องการจำเป็นของนักเรียน ความต้องการจำเป็นของสังคม และความต้องการจำเป็นของเนื้อหารายวิชา ก่อนดำเนินโครงการในภาพรวม พบว่า มีความเหมาะสมในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน และ 2) ผลการสัมภาษณ์ในด้านความต้องการจำเป็น ปัญหา และโอกาสและความคาดหวัง ก่อนเริ่มดำเนินโครงการในภาพรวม พบว่า มีความเหมาะสมในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน มีค่าน้ำหนัก 20% ผลการประเมินทุกกลุ่มมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด และผ่านเกณฑ์การประเมิน
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า มี 6 องค์ประกอบ (6M) ได้แก่ บุคลากร (Man) ทรัพยากร (Materials) งบประมาณ (Money) ระบบการบริหารจัดการ (Management) วิธีการ (Method) และแรงจูงใจ (Motivation) ก่อนดำเนินโครงการโดยภาพรวม พบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน มีค่าน้ำหนัก 15% ผลการประเมินเมื่อเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนด ทุกประเด็นตัวชี้วัด และทุกกลุ่มมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด และผ่านเกณฑ์การประเมิน
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการ มี 4 องค์ประกอบ (PDCA) ได้แก่ วางแผน (Plan) ดำเนินการ (Do) ตรวจสอบ (Check) และปรับปรุงแก้ไข (Act) โดยภาพรวมพบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน มีค่าน้ำหนัก 20% ผลการประเมินเมื่อเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนด ทุกประเด็นตัวชี้วัด และทุกกลุ่มมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด และผ่านเกณฑ์การประเมิน
4. ผลการประเมินด้านผลผลิต มี 6 ด้าน คือ
4.1 ความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยภาพรวม พบว่า ทุกกลุ่มที่ประเมิน มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน มีค่าน้ำหนัก 10% เมื่อเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนด ทุกประเด็นตัวชี้วัดและทุกกลุ่มที่ประเมินมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์และผ่านเกณฑ์การประเมิน
4.2 ความพึงพอใจจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยภาพรวมพบว่า มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน มีค่าน้ำหนัก 10% เมื่อเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนด ทุกประเด็นตัวชี้วัดและทุกกลุ่มที่ประเมินมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์และผ่านเกณฑ์การประเมิน
4.3 ผลการจัดกิจกรรมลูกเสือตามหลักสูตรและรายวิชาพิเศษ จากการเข้าร่วมกิจกรรมและประเมินผลงาน มีค่าน้ำหนัก 5% เมื่อเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนด พบว่า คุณภาพอยู่ในระดับดีมาก ร้อยละ 93.00 และผ่านเกณฑ์การประเมิน
4.4 คุณลักษณะของผู้เรียนตามหลักสูตรและรายวิชาพิเศษ มี 4 ด้าน ได้แก่ 1) พฤติกรรมคุณธรรมจริยธรรมด้านความซื่อสัตย์ มีวินัยและความรับผิดชอบ 2) พฤติกรรมจิตอาสา และการบำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณะ 3) พฤติกรรมทักษะชีวิต และ 4) พฤติกรรมการเดินทางไกลและอยู่ค่ายพักแรมของนักเรียน มีค่าน้ำหนัก 10% เมื่อเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนด พบว่า ทุกประเด็นตัวชี้วัดมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์และผ่านการประเมิน
4.5 ผลการประเมินการจัดกิจกรรมมุ่งสู่โรงเรียนต้นแบบลูกเสือตามองค์ประกอบ 5 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านลูกเสือ 2) ด้านผู้กำกับลูกเสือ 3) ด้านผู้บริหารโรงเรียน 4) ด้านการจัดมวลกิจกรรมลูกเสือ และ 5) ด้านผลงานดีเด่น มีค่าน้ำหนัก 10% เมื่อเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนด พบว่า ทุกประเด็นตัวชี้วัดและทุกกลุ่มมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด และผ่านเกณฑ์การประเมิน
4.6 ผลการบันทึกสะท้อนการเรียนรู้ของผู้เรียน พบว่า 1) ด้านความรู้และทักษะที่ได้รับ ได้เรียนรู้คำปฏิญาณและกฎของลูกเสือ มีทักษะการเป็นผู้นำ ได้แสดงความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ 2) ด้านปัญหาและอุปสรรคในการเข้าร่วม คือ เวลาน้อยเกินไป ขาดสื่อและวัสดุที่เพียงพอ นักเรียนบางส่วนไม่เห็นความสำคัญและไม่ได้นำทักษะไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ผู้ปกครองบางส่วนไม่ใส่ใจ และรูปแบบของกิจกรรมยังล้าหลังไม่สัมพันธ์กับความสนใจของผู้เรียนในปัจจุบัน 3) ด้านประสบการณ์ใหม่ที่ได้รับ มีความสนุก ท้าทาย ได้เรียนรู้ทักษะหลากหลาย ได้เดินทางไกลและอยู่ค่ายพักแรม 4) ด้านข้อเสนอแนะหรือแนวทางใหม่ต่อการดำเนินโครงการให้ประสบความสำเร็จสูงสุด ควรจัดกิจกรรมพิเศษเพิ่ม ให้นักเรียนมีส่วนร่วมวางแผน ควรนำสื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับใช้ ควรมีการเรียนรู้ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ มีเวทีแลกเปลี่ยนในระดับประเทศ และนานาชาติ และ 5) ด้านข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่นๆ ควรเปลี่ยนกิจกรรมลูกเสือให้น่าสนใจและตอบสนองผู้เรียนมากขึ้น ปรับกิจกรรมใหม่ในการเดินทางไกลและอยู่ค่ายพักแรม ควรหาวิธีจัดกิจกรรมให้ได้ในช่วงโควิด-19 ควรมีกิจกรรมพิเศษให้เลือกมากขึ้น โรงเรียนควรใช้ประโยชน์จากพื้นที่และสิ่งแวดล้อมให้คุ้มค่ามากที่สุดในการจัดค่ายเพื่อเป็นต้นแบบของลูกเสือระดับประเทศ