รายงานการประเมินโครงการพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียน
โรงเรียนวัดธรรมโชติ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรสาคร
ชื่อผู้รายงาน นายชูศักดิ์ ทองสาสุข
ตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดธรรมโชติ
ปีการศึกษา 2564
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียน โรงเรียนวัดธรรมโชติ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรสาคร ผู้รายงานใช้รูปแบบการประเมินแบบไอโป โมเดล (IPO Model) โดยมีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อประเมินด้านปัจจัยนำเข้า (Input) 2) เพื่อประเมินด้านกระบวนการ (Process) 3) เพื่อประเมินด้านผลผลิต (Output) จากประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมิน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 เป็น ผู้ประเมินด้านปัจจัยนำเข้า (Input) และด้านกระบวนการ (Process) ได้แก่ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โรงเรียนวัดธรรมโชติ ปีการศึกษา 2564 จำนวน 11 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนวัดธรรมโชติ จำนวน 7 คน รวม 18 คน กลุ่มที่ 2 เป็นผู้ให้ข้อมูลด้านผลผลิต (Output) ได้แก่ นักเรียนโรงเรียนวัดธรรมโชติ ชั้นประถมศึกษา
ปีที่ 1 - 6 จำนวน 120 คน โดยเก็บข้อมูลทั้งเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ 1) แบบสอบถาม 2 ฉบับ มีลักษณะเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ 2) เครื่องมือวัดและประเมินผล “ความสามารถในการอ่านและการเขียน” สถาบันภาษาไทย สำนักวิชาการมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ 3) เครื่องมือการวัดและประเมินผล ความสามารถด้านการอ่านของผู้เรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 (Reading Test : RT) จากสำนักทดสอบทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย (µ) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน () สรุปผลการประเมินเป็นรายด้านทั้ง 3 ด้าน
ผลการประเมินโครงการพบว่า
1) ด้านปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) โครงการพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียนโรงเรียนวัดธรรมโชติ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรสาคร โดยภาพรวมมีความพร้อมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน โดยเรียงค่าเฉลี่ยจากมากไปน้อย พบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ด้านวัสดุอุปกรณ์และสถานที่ รองลงมา คือ ด้านรูปแบบการบริหารจัดการที่เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้ และด้านบุคลากร ส่วนด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ด้านงบประมาณ ตามลำดับ
2) ด้านกระบวนการ (Process Evaluation) โครงการพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียน โรงเรียนวัดธรรมโชติ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรสาคร โดยภาพรวมมีการปฏิบัติ อยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน โดยเรียงค่าเฉลี่ยจากมากไปน้อย พบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ด้านการปรับปรุงและพัฒนา รองลงมา คือ ด้านการวัดและประเมินผล การนิเทศ กำกับ ติดตาม (Check) และ ด้านการดำเนินกิจกรรมการพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียน(Do) และด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ด้านการวางแผนการดำเนินงาน (Plan) ตามลำดับ
3) ด้านผลผลิต (Output Evaluation) โครงการพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียน โรงเรียนวัดธรรมโชติ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรสาคร คือ นักเรียนโรงเรียนวัดธรรมโชติ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 6 จำนวน 120 คน มีผลการประเมิน ดังนี้
3.1 วิเคราะห์ข้อมูล พบว่า นักเรียนมีผลการประเมินด้านการอ่าน ระดับสถานศึกษาอยู่ในระดับ ดี (ร้อยละ 70.18) สูงกว่าค่าเป้าหมายของโรงเรียนที่กำหนดคิดเป็นร้อยละ 5.18
เมื่อพิจารณารายระดับชั้น พบว่า ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มีผลการประเมินอยู่ในระดับ ดีมาก (ร้อยละ 80.26) สูงกว่าค่าเป้าหมายของโรงเรียนที่กำหนดคิดเป็น ร้อยละ 10.26
3.2 วิเคราะห์ข้อมูล พบว่า นักเรียนมีผลการประเมินด้านการเขียน ระดับสถานศึกษามีอยู่ในระดับ ดี (ร้อยละ 62.50) สูงกว่าค่าเป้าหมายของโรงเรียนที่กำหนดคิดเป็นร้อยละ 7.50 เมื่อพิจารณารายระดับชั้น พบว่า ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มีผลการประเมินอยู่ในระดับ
ดีมาก (ร้อยละ 80.26) สูงกว่าค่าเป้าหมายของโรงเรียนที่กำหนดคิดเป็น ร้อยละ 10.26
3.3 วิเคราะห์ข้อมูล พบว่า นักเรียนมีผลการทดสอบความสามารถด้านการอ่าน (RT : Reading Test) ระดับสถานศึกษาอยู่ในระดับ ดี (ร้อยละ 64.86) สูงกว่าค่าเป้าหมายของโรงเรียนที่กำหนด คิดเป็นร้อยละ 7.36เมื่อพิจารณารายสมรรถนะ โดยเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย พบว่าสมรรถนะการอ่านรู้เรื่องมีผลการประเมินอยู่ในระดับ ดี (ร้อยละ 70.57) สูงกว่าค่าเป้าหมายของโรงเรียนที่กำหนดคิดเป็นร้อยละ 10.57 รองลงมา คือสมรรถนะการอ่านออกเสียง มีผลการประเมินอยู่ในระดับ ดี (ร้อยละ 59.14) สูงกว่าค่าเป้าหมายของโรงเรียนที่กำหนด คิดเป็นร้อยละ 4.14 ตามลำดับ