รายงานผลการประเมินโครงการปาโมกข์น้อมศาสตร์พระราชา ฯ
ผู้ประเมิน นางสาวบังอร กรรเจียก
ปีที่ประเมิน 2564
บทคัดย่อ
รายงานผลการประเมินโครงการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาผลประเมินโครงการปาโมกข์น้อมศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน สืบสาน รักษา ต่อยอด “๙ ตามรอยพ่อ เพื่อพอเพียง” ใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านสภาพแวดล้อมของโครงการ ด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ ด้านกระบวนการของโครงการ และด้านผลผลิตของโครงการ และ 2) ศึกษาความพึงพอใจของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อผลการดำเนินโครงการปาโมกข์น้อมศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน สืบสาน รักษา ต่อยอด “๙ ตามรอยพ่อเพื่อพอเพียง” ได้แก่ ครูและบุคลากร คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียน โดยศึกษาจากกลุ่มเป้าหมายที่ให้ข้อมูล ในการประเมินประกอบด้วยครูและบุคลากร จำนวน 43 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 13 คน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 132 คน และผู้ปกครองนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 132 คน รวมจำนวนทั้งสิ้น 320 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน ได้แก่ แบบสอบถามการประเมินโครงการ จำนวน 2 ฉบับ มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.923 และ 0.907 วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)
ผลการประเมิน พบว่า ผลการประเมินโครงการ และความพึงพอใจที่มีต่อการดำเนินโครงการปาโมกข์น้อมศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน สืบสาน รักษา ต่อยอด “๙ ตามรอยพ่อเพื่อพอเพียง” ในภาพรวมทุกด้าน อยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ในระดับมากขึ้นไป
1. ผลการประเมินโครงการตามความคิดเห็นของครูและบุคลากร คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียน ปรากฏผล ดังนี้
1.1 ผลการประเมินโครงการตามความคิดเห็นของครูและบุคลากร คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ปกครองนักเรียน ในภาพรวม อยู่ในระดับมาก เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ ด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ ด้านสภาพแวดล้อมของโครงการ ด้านกระบวนการของโครงการ และด้านผลผลิตของโครงการ ตามลำดับ
ด้านสภาพแวดล้อมของโครงการ มีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมาก 3 อันดับแรก คือ โครงการสอดคล้องกับความต้องการของนักเรียน ครู บุคลากร และชุมชน รองลงมา คือ โครงการมีความเหมาะสมกับสภาพการจัดการศึกษาของโรงเรียนในปัจจุบัน และวัตถุประสงค์ ของโครงการสอดคล้องกับนโยบายของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสิงห์บุรี อ่างทอง
ด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ มีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมาก 3 อันดับแรก คือ ผู้บริหาร ผู้รับผิดชอบโครงการและครู มีความพร้อมในการดำเนินโครงการ รองลงมา คือ สถานที่ วัสดุ และอุปกรณ์ ในการปฏิบัติกิจกรรมของโครงการมีเพียงพอ และโรงเรียนได้รับ ความร่วมมือจากผู้ปกครองนักเรียนและชุมชนในการดำเนินโครงการ
ด้านกระบวนการของโครงการ มีผลการประเมิน อยู่ในระดับมาก ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมาก 3 อันดับแรก คือ การดำเนินกิจกรรมโครงการเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ รองลงมา คือ ผู้ปกครองนักเรียนและชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการ และการกำกับ ติดตาม ควบคุม การดำเนินงานไปเป็นไปตามกำหนดการของโครงการ
ด้านผลผลิตของโครงการ มีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมาก 3 อันดับแรก คือ นักเรียนตระหนักและเห็นคุณค่าของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รองลงมา คือ นักเรียนสามารถสำรวจตนเอง และปรับปรุงตนเองให้ดียิ่งขึ้น และนักเรียนนำหลักปรัชญา ของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
1.2 ผลการประเมินโครงการตามความคิดเห็นของนักเรียน ในภาพรวม อยู่ในระดับมาก เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ ด้านกระบวนการของโครงการ และด้านผลผลิตของโครงการ ตามลำดับ
ด้านกระบวนการของโครงการ มีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมาก 3 อันดับแรก คือ โรงเรียนมีการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รองลงมา คือ เนื้อหาวิชาที่เรียนเหมาะสมกับสภาพความพร้อมด้านต่างๆ ของโรงเรียน และโรงเรียนจัดเนื้อหาวิชาที่เรียนตรงกับความต้องการของผู้เรียน
ด้านผลผลิตของโครงการ มีผลการประเมิน อยู่ในระดับมาก ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมาก 3 อันดับแรก คือ นักเรียนตระหนักและเห็นคุณค่าของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รองลงมา คือ นักเรียนสามารถสำรวจตนเอง และปรับปรุงตนเองให้ดียิ่งขึ้น และนักเรียนไม่เปลี่ยนแปลง การดำเนินชีวิตไปตามกระแสสังคมโดยไม่มีเหตุผล
2. ผลการศึกษาความพึงพอใจที่มีต่อการดำเนินโครงการตามความคิดเห็นของครูและบุคลากร คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียน ปรากฏผล ดังนี้
2.1 ผลการศึกษาความพึงพอใจที่มีต่อการดำเนินโครงการตามความคิดเห็นของครู และบุคลากร คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ปกครองนักเรียน มีระดับความพึงพอใจ อยู่ในระดับมาก ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมาก 3 อันดับแรก คือ โรงเรียนนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นนโยบายในการบริหารและการจัดการเรียนการสอน รองลงมา คือ การจัดการเรียนการสอน มีการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยมที่ดีงาม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และนักเรียนเกิดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และสามารถนำไปประยุกต์ ใช้ในชีวิต ประจำวัน
2.2 ผลการศึกษาความพึงพอใจที่มีต่อการดำเนินโครงการตามความคิดเห็นของนักเรียน มีระดับความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมาก 3 อันดับแรก คือ การจัดการเรียนการสอน มีการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยมที่ดีงาม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักปรัชญา ของเศรษฐกิจพอเพียง รองลงมา คือ ครูมีความรู้ ความเข้าใจ สามารถให้คำปรึกษาและชี้แนะเกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และกิจกรรมการเรียนการสอนเกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมีความหลากหลายต่อการพัฒนานักเรียน