การวิจัยและพัฒนารูปแบบการบริหารตามแนวคิดโรงเรียนสุขภาวะ
โรงเรียนบ้านบูเก๊ะตาโมง มิตรภาพที่ 128 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส เขต 3
ชื่อผู้วิจัย นายซากี สะมะแอ
ปีการศึกษา 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยและพัฒนารูปแบบการบริหารตามแนวคิดโรงเรียนสุขภาวะ เพื่อพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา โรงเรียนบ้านบูเก๊ะตาโมง มิตรภาพที่ 128 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส เขต 3 มีขั้นตอนการดำเนินการ 4 ขั้นตอน ตามกระบวนการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) คือ ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาข้อมูลพื้นฐาน เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แบบสอบถาม และแบบสัมภาษณ์ ขั้นตอนที่ 2 การสร้างและตรวจสอบรูปแบบ โดยการยกร่างรูปแบบและการจัดสนทนากลุ่ม (Focus group) กับผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 7 คน เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แบบบันทึกการสนทนากลุ่ม และแบบประเมินความเหมาะสม และความเป็นไปได้ของรูปแบบ ขั้นตอนที่ 3 การทดลองใช้รูปแบบ โดยการนำรูปแบบไปใช้จริงกับกลุ่มตัวอย่างของโรงเรียนบ้านบูเก๊ะตาโมง มิตรภาพที่ 128 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส เขต 3 ประกอบด้วย ครูผู้สอน จำนวน 26 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 12 คน กำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างโดยใช้ตารางของเครจซี่และมอร์แกน (Krejcie & Morgan. 1970 : 608) นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 427 คน และผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 427 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) และขั้นตอนที่ 4 การประเมินรูปแบบ การวิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS และการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา (Content Analysis)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาแนวทางการบริหารตามแนวคิดโรงเรียนสุขภาวะ เพื่อพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา โรงเรียนบ้านบูเก๊ะตาโมง มิตรภาพที่ 128 พบว่า ภาพรวม มีการดำเนินงานอยู่ในระดับมาก โดยเรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย ดังนี้ ด้านผู้เรียนเป็นสุข รองลงมาคือ โรงเรียนเป็นสุข ครอบครัวเป็นสุข สภาพแวดล้อมเป็นสุข และด้านชุมชนเป็นสุข
2. ผลการสร้างและตรวจสอบรูปแบบการบริหารตามแนวคิดโรงเรียนสุขภาวะ เพื่อพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา โรงเรียนบ้านบูเก๊ะตาโมง มิตรภาพที่ 128 พบว่า รูปแบบการบริหารตามแนวคิดโรงเรียนสุขภาวะ เพื่อพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา มีองค์ประกอบหลัก 5 องค์ประกอบ คือ หลักการของรูปแบบ วัตถุประสงค์ของรูปแบบ กระบวนการดำเนินงาน แนวทางในการประเมินผล และภาพความสำเร็จ กระบวนการดำเนินงานตามแนวคิดโรงเรียนสุขภาวะ TAMONG Model ได้แก่ ทีมงาน (Team : T) การสร้างเจตคติที่ดีร่วมกัน (Attitude : A) ภาวะผู้นำด้านการบริหารจัดการ (Management) การเปิดรับฟังความคิดเห็น (Opinion: O) เครือข่าย (Network : N) และเป้าหมาย (Goal : G) ผลการประเมินรูปแบบตามความคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ โดยภาพรวม มีความเป็นไปได้ ในระดับมากที่สุด และมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก
3. ผลการใช้รูปแบบการบริหารตามแนวคิดโรงเรียนสุขภาวะ เพื่อพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา โรงเรียนบ้านบูเก๊ะตาโมง มิตรภาพที่ 128 พบว่า
3.1 ผลการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการศึกษาตามแนวคิดโรงเรียนสุขภาวะ เพื่อพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา พบว่า มีการดำเนินงานโดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณา รายด้าน พบว่า ด้านที่มีระดับการดำเนินงานมากที่สุด คือ ครูพัฒนานวัตกรรมและมีความเชี่ยวชาญในวิชาชีพ รองลงมาคือ มีบรรยากาศการร่วมมือกันทำงาน และระบบดูแลช่วยเหลือผู้เรียน
3.2 ผลการดำเนินงานตามรูปแบบการบริหารตามแนวคิดโรงเรียนสุขภาวะ เพื่อพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา ตามความคิดเห็นของครูผู้สอนและผู้ปกครองนักเรียน พบว่า นักเรียน มีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า ด้านที่นักเรียนมีการปฏิบัติอยู่ในระดับมากที่สุด คือ ผู้เรียนมีทักษะชีวิตและทักษะสุขภาพ รองลงมาคือ ผู้เรียนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ผู้เรียนมีทักษะความปลอดภัย ผู้เรียนมีคุณธรรม มีจิตสำนึกอนุรักษ์ และผู้เรียนมีทักษะการเรียนรู้ และนักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น คิดเป็นร้อยละ 51.65
4. ผลการประเมินรูปแบบการบริหารตามแนวคิดโรงเรียนสุขภาวะ เพื่อพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา โรงเรียนบ้านบูเก๊ะตาโมง มิตรภาพที่ 128 พบว่า ความพึงพอใจของครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ปกครองนักเรียน ต่อการดำเนินงานตามรูปแบบการบริหารตามแนวคิดโรงเรียนสุขภาวะ เพื่อพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา อยู่ในระดับมากที่สุดและครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ปกครองนักเรียน มีความเห็นว่า รูปแบบ การบริหารตามแนวคิดโรงเรียนสุขภาวะมีความเป็นประโยชน์ ความเป็นไปได้ ความเหมาะสม และความถูกต้องครอบคลุม อยู่ในระดับมาก