การประเมินโครงการโรงเรียนปลอดขยะของโรงเรียนป่าเด็งวิทยา
โดยใช้รูปแบบการประเมิน CIPPI MODEL
ผู้ประเมิน นางสาวเรณู สีลิ้นจี่ รองผู้อำนวยการโรงเรียนป่าเด็งวิทยา
หน่วยงาน โรงเรียนป่าเด็งวิทยา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเพชรบุรี
ปีที่ประเมิน ปีการศึกษา 2564
บทคัดย่อ
รายงานประเมินโครงการโรงเรียนปลอดขยะของโรงเรียนป่าเด็งวิทยา ปีการศึกษา 2564 ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการประเมินโครงการโรงเรียนปลอดขยะของโรงเรียนป่าเด็งวิทยา 1) ด้านบริบท 2) ด้านปัจจัยนำเข้า 3) ด้านกระบวนการ 4) ด้านผลผลิต 5) ด้านผลกระทบ โดยใช้รูปแบบการประเมิน CIPPI MODEL ผู้ให้ข้อมูลในการประเมินด้านบริบท ประกอบด้วย ผู้อำนวยการโรงเรียน จำนวน 1 คน รองผู้อำนวยการโรงเรียน จำนวน 1 คน และครูผู้รับผิดชอบโครงการ จำนวน 1 คน ผู้ให้ข้อมูลในการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ ด้านผลผลิต คือ คณะครูและบุคลากรทางการศึกษา โรงเรียนป่าเด็งวิทยา จำนวน 37 คน ผู้ให้ข้อมูลด้านผลผลิต ความรู้ในการจัดการขยะ การปฏิบัติในการจัดการขยะ และด้านผลกระทบ จิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อม คือ นักเรียนโรงเรียนป่าเด็งวิทยา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 251 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบแบ่งชั้น ผู้ให้ข้อมูลความพึงพอใจในการดำเนินโครงการ คือ ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 36 คน จากเครือข่ายผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนป่าเด็งวิทยา เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถามด้านบริบท มีค่าความเชื่อมั่น .91 ด้านปัจจัยนำเข้า มีค่าความเชื่อมั่น .86 ด้านกระบวนการ มีค่าความเชื่อ .90 ด้านผลผลิต มีค่าความเชื่อมั่น .87 ด้านผลกระทบ มีค่าความเชื่อมั่น .89 และแบบประเมินตนเอง มีค่าความเชื่อมั่น .87 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าทีแบบอิสระ
ผลการวิจัยพบว่า
1. ด้านบริบท มีความเหมาะสมสอดคล้องอยู่ในระดับมาก วัตถุประสงค์ของการจัดทำโครงการมีความสอดคล้องกับปัญหาด้านขยะของโรงเรียนมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษา และมีความสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป้าหมายของโรงเรียน
2. ด้านปัจจัยนำเข้า บุคลากร วัสดุ อุปกรณ์ งบประมาณ มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก
3. ด้านกระบวนการ การดำเนินโครงการโรงเรียนปลอดขยะ ประกอบด้วย 1) กิจกรรม Big Cleaning 2) กิจกรรมการคัดแยกขยะ 3) กิจกรรมน้ำหมักชีวภาพ และ 4) กิจกรรมขยะรีไซเคิล ทุกกิจกรรมมีคุณภาพการดำเนินงานอยู่ในระดับมาก
4. ด้านผลผลิต นักเรียนมีความรู้ในการจัดการขยะสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ร้อยละ 60
การปฏิบัติในการจัดการขยะของนักเรียนอยู่ในระดับปานกลาง ความคิดเห็นของครูที่มีต่อผลสำเร็จของการดำเนินโครงการอยู่ในระดับมาก
5. ด้านผลกระทบ จิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อมของนักเรียนอยู่ในระดับปานกลาง ความพึงพอใจในการดำเนินโครงการของผู้ปกครองอยู่ในระดับมาก