การพัฒนารูปแบบการบริหารสถานศึกษาตามแนวคิดโรงเรียนสุขภาวะ
เพื่อพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนบ้านไร่เจริญ
ผู้วิจัย นายนัยณัฏฐ์ ศรีชัย
ปีที่วิจัย 2562-2563
บทคัดย่อ
การวิจัยในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบัน และแนวทางการบริหารสถานศึกษาตามแนวคิดโรงเรียนสุขภาวะ เพื่อพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนบ้านไร่เจริญ 2) เพื่อสร้างรูปแบบการบริหารสถานศึกษาตามแนวคิดโรงเรียนสุขภาวะ เพื่อพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนบ้านไร่เจริญ 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการบริหารสถานศึกษาตามแนวคิดโรงเรียนสุขภาวะ เพื่อพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนบ้านไร่เจริญ และ 4) เพื่อประเมินรูปแบบการบริหารสถานศึกษาตามแนวคิดโรงเรียนสุขภาวะ เพื่อพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนบ้านไร่เจริญ การดำเนินการวิจัย แบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาข้อมูลพื้นฐาน ขั้นตอนที่ 2 การสร้างและตรวจสอบรูปแบบ ขั้นตอนที่ 3 การทดลองใช้รูปแบบ เป็นขั้นตอนที่ผู้วิจัยนำรูปแบบไปใช้กับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นครูผู้สอน จำนวน 3 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 42 คน และผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนบ้านไร่เจริญ ปีการศึกษา 2563 จำนวน 42 คน รวมจำนวน 94 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) และขั้นตอนที่ 4 การประเมินรูปแบบ การวิเคราะห์ข้อมูล วิเคราะห์โดยการหาความถี่ ค่าเฉลี่ย ร้อยละและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาสภาพปัจจุบันและแนวทางการบริหารสถานศึกษาตามแนวคิดโรงเรียนสุขภาวะ เพื่อพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนบ้านไร่เจริญ ในปีการศึกษา 2562 พบว่า ภาพรวม โรงเรียนบ้านไร่เจริญ มีการดำเนินงานด้านการบริหารสถานศึกษาตามแนวคิดโรงเรียนสุขภาวะอยู่ในระดับมาก โดยเรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย ดังนี้ ด้านผู้เรียนเป็นสุข รองลงมาคือ โรงเรียนเป็นสุข และชุมชนเป็นสุข ส่วนด้านที่มีค่าเฉลี่ยน้อยสุดมี 2 ด้าน คือ สภาพแวดล้อมเป็นสุข และครอบครัวเป็นสุข
2. ผลการสร้างรูปแบบการบริหารสถานศึกษาตามแนวคิดโรงเรียนสุขภาวะ เพื่อพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนบ้านไร่เจริญ พบว่า รูปแบบมีองค์ประกอบ 5 องค์ประกอบ คือ หลักการและเหตุผลของรูปแบบ วัตถุประสงค์ของรูปแบบ กระบวนการบริหารงาน แนวทางการประเมิน และเงื่อนไขความสำเร็จ กระบวนการบริหารงานโดยใช้ชื่อว่า “SAMAPI Model” ได้แก่ 1) หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy : S) 2) ความเป็นเลิศทางวิชาการ (Academic Excellence : A) 3) หลักการบริหารของ 4M (Man, Money, Materials, Management) 4) การลงมือปฏิบัติ (Active Learning : A) 5) การทบทวนหลังปฏิบัติงาน (After Action Review : AAR) 6) กระบวนการชุมชนการเรียนรู้ (Professional Learning Community : PCL) 7) กระบวนการเรียนรู้แบบ PBL (Problem-based Learning) 8) สมดุล และยั่งยืน (Infinity : I) ผลการตรวจสอบความเหมาะสม และความเป็นไปได้ของรูปแบบตามความคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ พบว่า รูปแบบมีความเหมาะสม และความเป็นไปได้ในระดับมาก
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการบริหารสถานศึกษาตามแนวคิดโรงเรียนสุขภาวะ เพื่อพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนบ้านไร่เจริญ ในปีการศึกษา 2563 พบว่า
3.1 ผลการสอบถามเกี่ยวกับการปฏิบัติของนักเรียนด้านสุขภาวะทางร่างกาย และจิตสังคม ตามความคิดเห็นของครูผู้สอนและผู้ปกครองนักเรียน พบว่า นักเรียนมีระดับการปฏิบัติในระดับมากที่สุด โดยรายการที่มีการปฏิบัติมากที่สุด คือ นักเรียนทุกคนมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง และจิตใจที่ดี รองลงมาคือ นักเรียนไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด
3.2 ผลการสอบถามเกี่ยวกับการบริหารจัดการศึกษาโรงเรียนสุขภาวะ เพื่อพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนบ้านไร่เจริญ ตามความคิดเห็นของครูผู้สอนและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า โรงเรียนบ้านไร่เจริญ มีระดับการปฏิบัติในระดับมาก โดยรายการที่มีการปฏิบัติมากที่สุด คือ โรงเรียนมีนโยบายส่งเสริมสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาสุขภาพนักเรียน รองลงมาคือ โรงเรียนมีบรรยากาศที่ปลอดภัย ปลอดอบายมุขและสิ่งเสพติด และเอื้อต่อการเรียนรู้
4. ผลการประเมินรูปแบบการบริหารสถานศึกษาตามแนวคิดโรงเรียนสุขภาวะ เพื่อพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนบ้านไร่เจริญ ในปีการศึกษา 2563 พบว่า
4.1 ผลการประเมินเกี่ยวกับความเป็นประโยชน์ ความเป็นไปได้ ความเหมาะสมและความถูกต้องครอบคลุมของรูปแบบการบริหารสถานศึกษาตามแนวคิดโรงเรียนสุขภาวะ เพื่อพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนบ้านไร่เจริญ ตามความคิดเห็นของครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ปกครองนักเรียน พบว่า ในภาพรวมรูปแบบมีความเป็นประโยชน์ ความเป็นไปได้ความเหมาะสม และความถูกต้องครอบคลุมอยู่ในระดับมาก
4.2 ผลการประเมินความพึงพอใจที่มีต่อรูปแบบการบริหารสถานศึกษาตามแนวคิดโรงเรียนสุขภาวะ เพื่อพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนบ้านไร่เจริญ ตามความคิดเห็นของครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ปกครองนักเรียน พบว่า ในภาพรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก