รูปแบบการพัฒนาสมรรถนะของครู
โรงเรียนวัดอุเบกขาราม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากำแพงเพชร เขต 2
ชื่อผู้วิจัย ดร.ยุทธนา หงสไกร
สาขาวิชา การบริหารการศึกษา
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างและประเมินคุณภาพและประสิทธิผลของรูปแบบการพัฒนาสมรรถนะของครูเพื่อส่งเสริมความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมของนักเรียนโรงเรียนวัดอุเบกขาราม วิธีการวิจัยแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน คือ 1) ศึกษาสภาพและปัญหาการพัฒนาสมรรถนะของครูเพื่อส่งเสริมความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมของนักเรียน ประชากร คือ ครู จำนวน 18 คน เครื่องมือการวิจัย คือ แบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับสภาพและปัญหาการพัฒนาสมรรถนะของครูเพื่อส่งเสริมความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมของนักเรียน 2) สร้างรูปแบบการพัฒนาสมรรถนะของครูเพื่อส่งเสริมความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมของนักเรียน โดยประยุกต์ใช้แนวคิดกระบวนการชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพและจิตศึกษา ด้วยวิธีการสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion) และตรวจสอบคุณภาพของรูปแบบโดยใช้วิธีการประชุมอภิปรายหาข้อสรุป (Multi – Attribute Consensus Reaching : MACR) โดยผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 9 คน และ 3) การทดลองใช้และประเมินประสิทธิผลของรูปแบบ ประชากร คือ ครู จำนวน 18 คน และนักเรียน จำนวน 122 คน เครื่องมือ การวิจัย คือ แบบประเมินสมรรถนะของครูเพื่อส่งเสริมความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมของนักเรียน และแบบประเมินความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมของนักเรียน ระยะเวลาที่ใช้ในการวิจัยเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 ถึงพฤษภาคม 2565
ผลการวิจัย พบว่า สภาพการพัฒนาสมรรถนะของครูเพื่อส่งเสริมความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมของนักเรียนในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนปัญหาการพัฒนาสมรรถนะของครู 3 ลำดับแรก คือ 1) ครูขาดการวิเคราะห์ตนเองเพื่อจัดทำแผนการพัฒนาตนเอง 2) ครูขาดการพัฒนาสมรรถนะของตนเองอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง และ 3) ครูขาดความรู้ความเข้าใจในการออกแบบและจัดการเรียนรู้เชิงรุก ส่วนรูปแบบการพัฒนาสมรรถนะของครูเพื่อส่งเสริมความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมของนักเรียนที่สร้างขึ้นมีคุณภาพอยู่ในระดับมากที่สุด ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) หลักการ 2) จุดมุ่งหมาย 3) กระบวนการ 6 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นที่ 1 ศึกษาวิเคราะห์ (Analysis) ขั้นที่ 2 สร้างความตระหนัก (Empowerment) ขั้นที่ 3 สร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ (Collaboration) ขั้นที่ 4) นำรูปแบบไปใช้ (Applying) ขั้นที่ 5 ประเมินผล (Evaluation) และขั้นที่ 6 ขยายผล นวัตกรรม (Communication) และ 4) ประเมินประสิทธิผลภายหลังที่มีการนำรูปแบบการพัฒนาสมรรถนะของครูไปใช้ พบว่า ครูมีสมรรถนะการส่งเสริมความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมของนักเรียนอยู่ในระดับมากที่สุด โดยมีสมรรถนะสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และนักเรียนมีความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยมีสมรรถนะสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05