การพัฒนารูปแบบมดงาน 4 ประสาน 4 H เพื่อเสริมสร้างความซื่อสัตย์
โรงเรียนวัดท่าช้าง
ผู้วิจัย นางสาวศุทธิดา ทองชอุ่ม
ปีที่ทำการวิจัย ปีการศึกษา 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อสำรวจความต้องการจำเป็น ในการพัฒนารูปแบบมดงาน 4 ประสาน 4 H เพื่อเสริมสร้างความซื่อสัตย์ของนักเรียน โรงเรียนวัดท่าช้าง พัฒนารูปแบบการเสริมสร้างความซื่อสัตย์ ตรวจสอบรูปแบบเสริมสร้างความซื่อสัตย์ เปรียบเทียบผลการใช้รูปแบบการเสริมสร้างความซื่อสัตย์ 3 ด้าน คือ ด้านความซื่อสัตย์ต่อตนเอง ด้านความซื่อสัตย์ต่อผู้อื่น ด้านความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ และเปรียบเทียบความพึงพอใจของครู นักเรียน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน กลุ่มผู้ให้ข้อมูล ได้แก่ นักเรียน ครู ผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนวัดท่าช้าง จำนวน 120 คน เครื่องมือที่ใช้เป็นชนิดมาตรประมาณค่า 5 ระดับ โดยเป็นแบบสำรวจ จำนวน 3 ฉบับ แบบสังเกต จำนวน 1 ฉบับ และแบบสอบถาม จำนวน 4 ฉบับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน หาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน และเปรียบเทียบการมีความซื่อสัตย์ก่อนและหลังโดยใช้ค่าที
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการสำรวจความต้องการจำเป็นในการพัฒนารูปแบบมดงาน 4 ประสาน 4 H เพื่อเสริมสร้างความซื่อสัตย์ของนักเรียนโรงเรียนวัดท่าช้าง พบว่า นักเรียน ครู ผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความต้องการในการพัฒนารูปแบบการเสริมสร้างความซื่อสัตย์อยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การสำรวจความต้องการจำเป็นในการพัฒนารูปแบบ
2. ผลการพัฒนารูปแบบมดงาน 4 ประสาน 4 H เพื่อเสริมสร้างความซื่อสัตย์ของนักเรียน มีองค์ประกอบที่สำคัญ 6 ขั้นตอน เริ่มจาก 1) ทีมงานเป็นหนึ่ง 2) รู้ซึ่งหน้าที่ 3) ร่วมมือร่วมใจ 4 )แลกเปลี่ยนเรียนรู้ 5) มุ่งมั่นหลักชัย 6) เติมเต็มศักยภาพ โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมในการประสานความร่วมมือระหว่าง บ้าน วัด โรงเรียน และชุมชน ใช้หลัก 4 H คือ H 1 = Hearts (ร่วมใจ) H2 = Heads(ร่วมคิด) H3 = Hands (ร่วมมือ) และ H4 = Hugs (ร่วมโอบกอด) และส่งผลให้เกิดการพัฒนาความซื่อสัตย์ของนักเรียนที่มีประสิทธิผล 3 ด้าน คือ ความซื่อสัตย์ต่อตนเอง ความซื่อสัตย์ต่อผู้อื่น ความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ ส่วนผลการตรวจสอบประสิทธิภาพของรูปแบบ พบว่า ด้านความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก และได้ความเป็นไปได้อยู่ในระดับมากที่สุด
3. ผลการเปรียบเทียบการใช้รูปแบบมดงาน 4 ประสาน 4 H เพื่อเสริมสร้างความซื่อสัตย์ของนักเรียน 3 ด้าน พบว่า ด้านความซื่อสัตย์ต่อตนเองนักเรียนมีความซื่อสัตย์ต่อตนเอง อยู่ในระดับมาก และพัฒนาสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ด้านความซื่อสัตย์ต่อผู้อื่น นักเรียนมีความซื่อสัตย์ต่อผู้อื่น อยู่ในระดับมาก และพัฒนาสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ด้านความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ นักเรียนมีความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่อยู่ในระดับมากที่สุด และพัฒนาสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. ผลการเปรียบเทียบความพึงพอใจ พบว่า ความพึงพอใจของครู อยู่ในระดับมาก และมีความพึงพอใจสูงขึ้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนความพึงพอใจของนักเรียน อยู่ในระดับมากที่สุด และมีความพึงพอใจสูงขึ้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 สำหรับความพึงพอใจของผู้ปกครอง อยู่ในระดับมาก และมีความพึงพอใจสูงขึ้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และความพึงพอใจของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน อยู่ในระดับมาก และมีความพึงพอใจสูงขึ้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05