รายงานการประเมินโครงการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน
ชื่อเรื่อง รายงานการประเมินโครงการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน
โดยการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนเพียงหลวง 16
อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย
ผู้ประเมิน นางสาวเกศรินทร์ บัวผัด
ปีการศึกษา 2564
การรายงานผลการประเมินโครงการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน โดยการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนเพียงหลวง 16 อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อรายงานผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนโดยการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนเพียงหลวง 16 อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต กลุ่มตัวอย่างได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) จากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของโรงเรียนเพียงหลวง 16 ปีการศึกษา 2564 ได้แก่ ครูผู้ปฏิบัติงานในปีการศึกษา 2564 จำนวน 18 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 13 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 รวม 130 คน และผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 รวม 89 คน รวมทั้งสิ้น 250 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลเป็นแบบประเมิน ซึ่งผู้รายงานสร้างขึ้น จำนวน 6 ฉบับ ฉบับที่ 1 เป็นแบบประเมินด้านบริบท ฉบับที่ 2 เป็นแบบประเมินด้านปัจจัยนำเข้า ฉบับที่ 3 เป็นแบบประเมินด้านกระบวนการ ฉบับที่ 4 เป็นแบบประเมินด้านผลผลิต คือ คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน 5 ประการ ได้แก่ ความซื่อสัตย์ ความมีวินัย ความอยู่อย่างพอเพียง ความมุ่งมั่นในการทำงาน และความมีจิตสาธารณะโดยครู และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ฉบับที่ 5 เป็นแบบประเมินผลผลิต คือ คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน 5 ประการ โดยผู้ปกครองนักเรียน และฉบับที่ 6 เป็นการประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการดำเนินโครงการ โดยแบบสอบถามทั้ง 6 ฉบับ เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าความถี่ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
สรุปผลการประเมิน
ผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน โดยการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนเพียงหลวง 16 อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย มีผลการประเมินโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด สูงกว่าเกณฑ์การตัดสินที่วางไว้ เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน เรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย พบว่า ลำดับที่ 1 คือ ด้านผลผลิต ลำดับที่ 2 คือ ด้านบริบท ลำดับที่ 3 คือ ด้านกระบวนการ และลำดับสุดท้าย คือ ด้านปัจจัยนำเข้า ดังนี้
1.ผลการประเมินบริบท พบว่า มีความสอดคล้องอยู่ในระดับมาก ซึ่งค่าเฉลี่ยของความสอดคล้องด้านบริบทในภาพรวม สูงกว่าเกณฑ์การตัดสินที่วางไว้
2.ผลการประเมินปัจจัยนำเข้า พบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ซึ่งทั้งนี้ค่าเฉลี่ยในภาพรวมด้านปัจจัยนำเข้า สูงกว่าเกณฑ์การตัดสินที่วางไว้ จึงถือว่า โครงการได้รับการสนับสนุนทรัพยากร 4 ด้าน ได้แก่ ด้านบุคลากร ด้านงบประมาณ ด้านวัสดุ-อุปกรณ์ และการบริหารจัดการ
3.ผลการประเมินกระบวนการ พบว่า มีการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก ทั้งนี้ค่าเฉลี่ยในภาพรวมด้านกระบวนการ สูงกว่าเกณฑ์การตัดสินที่วางไว้ จึงถือว่าโครงการมีการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในโครงการ โดยความร่วมมือของคณะทำงานและผู้เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี
4.ผลการประเมินผลผลิต
4.1 การประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ค่าเฉลี่ยในภาพรวมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนจากการประเมิน โดยครูและผู้ปกครองนักเรียนสูงกว่าเกณฑ์การตัดสินที่วางไว้ ดังนี้
1) การประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนโดยครู และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า โดยเฉลี่ยมีการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก
2)การประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน โดยผู้ปกครองนักเรียน พบว่า โดยเฉลี่ยมีการปฏิบัติอยู่ในระดับมากที่สุด
4.2ผลการสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อโครงการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน โดยการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนเพียงหลวง 16 อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย โดยภาพรวมนักเรียนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด ทั้งนี้ค่าเฉลี่ย ในภาพรวมความพึงพอใจของนักเรียน สูงกว่าเกณฑ์การตัดสินที่วางไว้ จึงถือว่าโครงการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน โดยการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนเพียงหลวง 16 มีกิจกรรมที่น่าสนใจ และสามารถสนองต่อความต้องการของนักเรียน ตลอดจนสามารถพัฒนาความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ