รายงานการประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนบ้านโรงเ
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรสาคร ปีการศึกษา 2564
ชื่อผู้ประเมิน นางสาวปิยพร อินทรักษ์
ปีการศึกษา 2564
บทคัดย่อ
รายงานการประเมินโครงการครั้งนี้ เป็นรายงานการประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือ
นักเรียนโรงเรียนบ้านโรงเข้ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรสาคร ปีการศึกษา 2564 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินด้านปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) ประเมินด้านกระบวนการ (Process Evaluation) และประเมินด้านผลผลิต (Output Evaluation) ของโครงการ ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้ ประกอบด้วย ครูและบุคลากร จำนวน 15 คน คณะกรรมการสถานศึกษา (ยกเว้นผู้แทนครูและผู้บริหารสถานศึกษา) จำนวน 7 คน ผู้ปกครองนักเรียนระดับชั้นชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - มัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 97 คน และนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 - มัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 69 คนซึ่งได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) รวมทั้งสิ้น 188 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการ ประกอบด้วย แบบประเมิน จำนวน 3 ฉบับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการประเมินพบว่า
1. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) ของโครงการตามผลการประเมินในภาพรวมพบว่ามีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยเรียงจากค่าเฉลี่ยมากไปหาน้อยตามลำดับได้แก่ ด้านบุคลากร รองลงมา คือ ด้านวัสดุ อุปกรณ์และสถานที่ ด้านการบริหารจัดการ และลำดับค่าเฉลี่ยตํ่าสุด คือ ด้านงบประมาณ
2. ผลการประเมินด้านกระบวนการ (Process Evaluation) ของโครงการตามผลการประเมินในภาพรวมพบว่ามีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก โดยเรียงจากค่าเฉลี่ยมากไปหาน้อยตามลำดับได้แก่ ด้านการดำเนินกิจกรรม(Do) ด้านการวางแผน (Plan) ด้านการกำกับ นิเทศ ติดตาม ประเมินผล(Check) และ ด้านการปรับปรุง พัฒนาการดำเนินงานและรายงานผล (Act)
3. ผลการประเมินด้านผลผลิต (Output Evaluation) ของโครงการ
3.1 ผลการพัฒนาคุณภาพนักเรียน ได้แก่
3.1.1 การจบหลักสูตรตามกำหนดของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 พบว่า การจบหลักสูตรการศึกษา ปีการศึกษา 2564 ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 คิดเป็นร้อยละ 100 บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด
3.1.2 ผลการประเมินคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ตามหลักสูตร 8 ประการ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1- มัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2564 พบว่านักเรียนผ่านการประเมินระดับดี – ดีเยี่ยม คิดเป็นค่าเฉลี่ยร้อยละ 100 บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด
3.1.3 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1- ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านโรงเข้ ใน 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้หลัก เปรียบเทียบปีการศึกษา 2563-2564 พบว่า ร้อยละของนักเรียนที่ได้ระดับ 3 ขึ้นไป เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.97 บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด
3.1.4 ผลการทดสอบความสามารถพื้นฐานของผู้เรียนระดับชาติ (NT) ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เปรียบเทียบปีการศึกษา 2563 – 2564 ผลการทดสอบปีการศึกษา 2564 มีคะแนนร้อยละเฉลี่ยร้อยละ 66.33 เพิ่มจากปีการศึกษา 2563 ร้อยละ 20.08 บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด
3.1.5 ผลการคัดกรองนักเรียนโรงเรียนบ้านโรงเข้ เปรียบเทียบปีการศึกษา 2563 - 2564 พบว่านักเรียนโรงเรียนบ้านโรงเข้ ปีการศึกษา 2564 มีผลการคัดกรอง มีนักเรียนกลุ่มปกติ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.05 นักเรียนกลุ่มเสี่ยง ลดลง คิดเป็นร้อยละ 0.56 และกลุ่มมีปัญหา ลดลง คิดเป็นร้อยละ 2.49 ซึ่ง นักเรียนในกลุ่มเสี่ยงและมีปัญหา มีจำนวนนักเรียนลดลงคิดเป็น ร้อยละ 3.05 บรรลุตมเป้าหมายที่กำหนด
3.2 ผลการประเมินความพึงพอใจในการดำเนินโครงการของ ครูและบุคลากร พบว่า ระดับความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด ผลความพึงพอใจตามความคิดเห็นของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า ระดับความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด ผลความพึงพอใจตามความคิดเห็นของ ผู้ปกครองนักเรียน พบว่า ระดับความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด และผลความพึงพอใจตามความคิดเห็นของนักเรียน พบว่า ระดับความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด