ประเมินโครงการส่งเสริมทักษะการอ่านภาษาไทยของโรงเรียนบ้านทุ่งยาว
ชื่อผู้ประเมิน นายสุธี เทพกัน
ตำแหน่ง ผู้อำนวยการ วิทยฐานะ ผู้อำนวยการชำนาญการ
ปีการศึกษา 2564
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการส่งเสริมทักษะการอ่านภาษาไทยของโรงเรียนบ้านทุ่งยาว ครั้งนี้ใช้รูปแบบการประเมินแบบ CIPP Model โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อประเมินโครงการส่งเสริมทักษะการอ่านภาษาไทยของนักเรียนโรงเรียนบ้านทุ่งยาว 4 ด้าน ตามแบบซิปป์โมเดล (CIPP MODEL) 2) เพื่อศึกษาแนวทางการส่งเสริมการยกระดับทักษะการอ่าน และสร้างนิสัยรักการอ่านของนักเรียนโรงเรียนบ้านทุ่งยาว กลุ่มตัวอย่างจำนวน 84 คน ได้แก่ กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 6 คน ( ยกเว้นผู้บริหาร ผู้แทนครู ) คณะครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 8 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 51 คน และผู้ปกครองของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1–6 จำนวน 18 คน ได้มาโดยใช้วิธีการสุ่มกลุ่มตัวอย่างแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการส่งเสริมทักษะการอ่านภาษาไทยของโรงเรียนบ้านทุ่งยาว ครั้งนี้เป็นแบบสอบถาม การเก็บรวบรวมข้อมูล เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถามจำนวน 3 ฉบับ เป็นแบบมาตราประมาณค่า 5 ระดับ (Rating scale) สถิติที่ใช้คือ ค่าเฉลี่ย x̄ ร้อยละ (%) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปจากคอมพิวเตอร์วิเคราะห์ข้อมูล
ผลการประเมินพบว่า การประเมินโครงการส่งเสริมทักษะการอ่านภาษาไทยของโรงเรียนบ้านทุ่งยาว ในภาพรวมอยู่ในระดับ มาก และผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า ผลการประเมินทุกด้าน ได้แก่ ด้านบริบท (Context) ด้านปัจจัยนำเข้า/ตัวป้อน (Input) ด้านกระบวนการ (Process) และด้านผลผลิต (Product) ของโครงการส่งเสริมทักษะการอ่านภาษาไทยของโรงเรียนบ้านทุ่งยาว โดยภาพรวมทุกด้านอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้