การประเมินโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียนพรหมานุสรณ์ฯ
ผู้ประเมิน นางขวัญรุ่ง นุ่มเมือง
รองผู้อำนวยการโรงเรียนพรหมานุสรณ์จังหวัดเพชรบุรี
ปีการศึกษา 2564
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียนพรหมานุสรณ์จังหวัดเพชรบุรี ปีการศึกษา 2564
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ ประกอบด้วย คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจำนวน 12 คน ครู จำนวน 108 คน นักเรียน จำนวน 338 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 338 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บและรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถามการประเมินประมาณค่า 5 ระดับ โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบซิปป์โมเดล (CIPP MODEL) ประเมิน 4 ด้าน คือ (1) การประเมินบริบท (2) การประเมินปัจจัยนำเข้า (3) การประเมินกระบวนการ (4) การประเมินผลผลิต ต่อการดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียนพรหมานุสรณ์จังหวัดเพชรบุรี ที่ผู้ประเมินสร้างขึ้น สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย (x-bar) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)
ผลการประเมินพบว่า
1. ผลการประเมินด้านบริบทของโครงการ เกี่ยวกับความสอดคล้องของวัตถุประสงค์ ภาพรวม อยู่ในระดับมากที่สุด ถือว่าผ่านเกณฑ์การประเมินทุกรายการ
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยเบื้องต้นของโครงการเกี่ยวกับความพร้อมของบุคลากร ความพร้อมด้านงบประมาณ ความพร้อมด้านวัสดุ อุปกรณ์ และสถานที่ และความพร้อมด้านการบริหารจัดการ ภาพรวม มีความพร้อมอยู่ในระดับมากที่สุด ถือว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกขั้นตอน
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการของโครงการ เกี่ยวกับความเหมาะสมของการวางแผน (Plan) ความเหมาะสมของการลงมือปฏิบัติ (Do) ความเหมาะสมของการตรวจสอบ (Check) และความเหมาะสมของการปรับปรุง (Action) ภาพรวม อยู่ในระดับมากที่สุด ถือว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกขั้นตอน
4. ผลการประเมินโครงการด้านผลผลิต เกี่ยวกับพฤติกรรมด้านการเรียน ภาพรวม อยู่ในระดับมากที่สุด และเกี่ยวกับความพึงพอใจที่มีต่อการดำเนินโครงการ ภาพรวม อยู่ในระดับมากที่สุด ถือว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกรายการ