รายงานการประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน รร.วัดโคกกรวด
“ไตรราษฎร์บำรุง” สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 1
โดยใช้รูปแบบซิปป์ (CIPP Model)
ผู้รายงาน นายปริญ ศรีสิงห์
ปีที่ศึกษา 2563
บทสรุปสำหรับผู้บริหารสถานศึกษา
การรายงานการศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนวัดโคกกรวด “ไตรราษฎร์บำรุง” สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 1 โดยใช้รูปแบบซิปป์ (CIPP Model) 2) เพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรคของโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนวัดโคกกรวด “ไตรราษฎร์บำรุง” สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 1 และ 3) เพื่อศึกษาแนวทางแก้ไขของโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนวัดโคกกรวด “ไตรราษฎร์บำรุง” สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 1
ประชากร ที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครู นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียน โรงเรียนวัดโคกกรวด “ไตรราษฎร์บำรุง” ปีการศึกษา 2563 จำนวน 138 คน ได้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 108 คน จำแนกเป็นคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 9 คน ครู จำนวน 5 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 58 คน และนักเรียน จำนวน 36 คน ได้มาโดยวิธีเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling)
เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามที่ผู้ศึกษาสร้างขึ้น ผ่านการพิจารณาของผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 คนวิเคราะห์ข้อมูล โดยการแจกแจงความถี่ หาค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Devation) และการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา (Content Analysis) โดยจัดคำตอบเข้าประเด็นเดียวกันแล้วนำเสนอข้อมูลเป็นความเรียง
ผลการประเมิน
1. การประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนวัดโคกกรวด “ไตรราษฎร์บำรุง”สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 1 พบว่า ในภาพรวมทั้ง 4 ด้าน มีความคิดเห็น อยู่ในระดับมาก ( = 4.47, S.D.= 0.20) ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ด้านสภาพแวดล้อม ( = 4.58, S.D.= 0.28) รองลงมา คือ ด้านผลผลิต ( = 4.46, S.D.= 0.30) ด้านปัจจัยนำเข้า ( = 4.45, S.D.= 0.30) และด้านกระบวนการ ( = 4.38, S.D.= 0.37) ตามลำดับ
2. ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนวัดโคกกรวด “ไตรราษฎร์บำรุง” สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 1 สรุปดังนี้
2.1 ด้านสภาพแวดล้อม พบว่า นักเรียนยังไม่ได้รับการดูแลช่วยเหลือตามวัตถุประสงค์ของโครงการอย่างทั่วถึงและครอบคลุมทั้งหมด การดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนยังไม่สามารถทำให้นักเรียน มีพฤติกรรมตามที่คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของสถานศึกษาได้ทุกคน
2.2 ด้านปัจจัยนำเข้า พบว่า ครูผู้รับผิดชอบโครงการยังปฏิบัติงานได้ไม่เต็มที่ ขาดความรู้ความเข้าใจที่แท้จริง งบประมาณในการจัดกิจกรรมยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ กิจกรรมและระยะเวลายังไม่มีความเหมาะสม
2.3 ด้านกระบวนการ พบว่า การดำเนินงานยังไม่เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ เกิดจากขาดการกำกับ ติดตาม นิเทศอย่างจริงจัง กระบวนการดำเนินงานของโครงการเป็นลักษณะของการสั่งการจากฝ่ายเดียว ขาดการมีส่วนร่วมจากหลาย ๆ ฝ่าย
2.4 ด้านผลผลิต พบว่า กิจกรรมตามโครงการยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์เท่าที่ควรจากปัญหากระบวนการในการดำเนินงานต่าง ๆ กิจกรรมยังค่อนข้างน้อย และขาดการเข้าถึงนักเรียนอย่างแท้จริง
3. แนวทางแก้ไขของโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนวัดโคกกรวด “ไตรราษฎร์บำรุง” สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 1 สรุปดังนี้
3.1 ด้านสภาพแวดล้อม มีแนวทาง คือ ควรมีการดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้ครอบคลุมทุกระดับชั้น ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงชั้นประถมศึกษา เพราะการดำเนินการแบบต่อเนื่องจะทำให้สามารถติดตามพฤติกรรม และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนักเรียนได้ใกล้ชิดและต่อเนื่อง จะส่งผลให้นักเรียนมีพฤติกรรมที่ดีตามที่ต้องการ ตามคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของสถานศึกษาได้ทุกคน
3.2 ด้านปัจจัยนำเข้า มีแนวทาง คือ ควรมีการประชาสัมพันธ์ ประชุมชี้แจง เกี่ยวกับขั้นตอน กระบวนการดำเนินงานให้ทุกฝ่ายตระหนักรู้ให้มากขึ้น ให้ผู้ปกครองได้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมทุกคน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สะท้อนความเป็นจริงมากที่สุด เพื่อการดำเนินงานโครงการอย่างมีประสิทธิภาพ
3.3 ด้านกระบวนการ มีแนวทาง คือ ควรบริหารงานโดยการกระจายอำนาจ โดยให้ทุก ๆ ฝ่าย มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การแสดงความคิดเห็นให้มากที่สุดเพื่อให้ได้ข้อมูลมาตัดสินใจในทุกขั้นตอน อย่างรอบคอบ จะทำให้การดำเนินงานตามโครงการมีประสิทธิภาพ
3.4 ด้านผลผลิต มีแนวทาง คือ ควรเพิ่มเติมหรือปรับกิจกรรมในการดำเนินงาน เน้นผล ที่จะเกิดกับผู้เรียนอย่างแท้จริง ปฏิบัติกิจกรรมอย่างจริงจังตรงจุดจะส่งผลให้การดำเนินงานโครงการ มีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลสูงสุดต่อไป