การพัฒนารูปแบบการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน
โรงเรียนหนองยางชุมพิทยาคม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 20
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ผู้วิจัย จ่าอากาศเอกทฤษฎี สิงอุปโป
ปีพุทธศักราช 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาวิเคราะห์และสังเคราะห์องค์ประกอบของรูปแบบการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนหนองยางชุมพิทยาคม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 20 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2) ตรวจสอบความกลมกลืนของโมเดลสมการโครงสร้างองค์ประกอบของรูปแบบการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนหนองยางชุมพิทยาคมสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 20 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษา ขั้นพื้นฐาน กับข้อมูลเชิงประจักษ์ 3) รับรองรูปแบบการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนหนองยางชุมพิทยาคม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 20 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ 4) ศึกษาผลการนำรูปแบบการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนหนองยางชุมพิทยาคม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 20 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไปใช้ โดยดำเนินการวิจัยเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ผู้วิจัยศึกษาวิเคราะห์และสังเคราะห์องค์ประกอบรูปแบบการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย นำไปสร้างแบบสัมภาษณ์กึ่งมีโครงสร้าง สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 6 คน ที่ได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา ระยะที่ 2 ตรวจสอบความกลมกลืนของโมเดลสมการโครงสร้างองค์ประกอบของรูปแบบการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายกับข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยผู้วิจัยนำข้อมูลจากระยะที่ 1 มาสร้างแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ ตรวจสอบคุณภาพโดยผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 คน ได้ค่าดัชนีความสอดคล้อง 0.92 ค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ เท่ากับ .728 กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้อำนวยการสถานศึกษา หรือ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา หรือผู้ได้รับการแต่งตั้งให้รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา ข้าราชการครูที่ปฏิบัติหน้าที่กลุ่มบริหารวิชาการ และข้าราชการครูผู้สอน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 20 กำหนดขนาดตัวอย่างตามแนวคิดของ แฮร์และคณะ (Hair et. al., 2010: 127) ที่เสนอเกณฑ์อัตราส่วนกลุ่มตัวอย่าง 5-10 คน ต่อจำนวนพารามิเตอร์ที่ต้องการประมาณค่า 1 ตัว การวิจัยนี้มีตัวแปรรวม 87 พารามิเตอร์ กลุ่มตัวอย่างที่เหมาะสมควรมีขนาดระหว่าง 435-870 คน ผู้วิจัยกำหนดจำนวนตัวอย่าง 7 คนต่อ 1 พารามิเตอร์ ได้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 609 คน แล้วสุ่มตัวอย่างแบบง่าย โดยจับสลากสถานศึกษาจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 20 วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป AMOS version 16.0 ระยะที่ 3 รับรององค์ประกอบของรูปแบบการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยจัดสัมมนาอิงผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 9 คน เครื่องมือที่ใช้ได้แก่ แบบบันทึกการสัมมนาอิงผู้เชี่ยวชาญและแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ เพื่อหาค่าความเหมาะสมและความเป็นไปได้ขององค์ประกอบของรูปแบบการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย สถิติที่ใช้ ได้แก่ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ระยะที่ 4 ศึกษาผลการนำองค์ประกอบของรูปแบบการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ไปใช้ โดยนำไปทดลองใช้กับกลุ่มตัวอย่าง คือข้าราชการครูโรงเรียนหนองยางชุมพิทยาคม ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 จำนวน 12 คน เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ เพื่อหาค่าระดับการปฏิบัติและความพึงพอใจต่อองค์ประกอบของรูปแบบการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย สถิติที่ใช้ ได้แก่ ค่าเฉลี่ย และ ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการศึกษาวิจัย พบว่า
1. องค์ประกอบของรูปแบบการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้แก่ องค์ประกอบหลัก 3 องค์ประกอบ และองค์ประกอบย่อย 14 องค์ประกอบ ตัวบ่งชี้ จำนวน 87 ตัวบ่งชี้
2. องค์ประกอบของรูปแบบการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย มีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์สูงมาก และองค์ประกอบหลักที่มีความเหมาะสมมากที่สุด ได้แก่ องค์ประกอบหลัก ที่ 2 ด้านผู้สอน
3. องค์ประกอบของรูปแบบการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนหนองยางชุมพิทยาคม มีความเหมาะสมและความเป็นไปได้ อยู่ในระดับมากที่สุด
4. ผลการนำองค์ประกอบของรูปแบบการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ไปใช้ มีการปฏิบัติอยู่ในระดับมากที่สุด และมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด
คำสำคัญ : องค์ประกอบ, รูปแบบการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย, ความกลมกลืนของโมเดลสมการโครงสร้าง