รายงานการพัฒนารูปแบบการนิเทศแบบกัลยาณมิตร
ชื่อเรื่อง รายงานการพัฒนารูปแบบการนิเทศแบบกัลยาณมิตรเพื่อเสริมสร้างความสามารถ
ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของครูโรงเรียนวัดศรีวิชัย
ชื่อผู้รายงาน ปรางกมล ล้อจงเฮง
ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดศรีวิชัย อำเภอเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาท
สํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยนาท
ปีที่รายงาน
ปีการศึกษา 2564
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนารูปแบบการนิเทศแบบกัลยาณมิตรเพื่อเสริมสร้าง ความสามารถในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของครูโรงเรียนวัดศรีวิชัย 2) เพื่อศึกษาผลการใช้ รูปแบบการนิเทศแบบกัลยาณมิตรเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ของครูโรงเรียนวัดศรีวิชัย 3) เพื่อวิเคราะห์ความแตกต่างและการเปลี่ยนแปลงของคะแนนคุณภาพ การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของครูก่อนได้รับ ขณะได้รับ และสิ้นสุดกระบวนการนิเทศ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ครูผู้สอน โรงเรียนวัดศรีวิชัย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประถมศึกษาชัยนาท จำนวน 20 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ แนวทางการนิเทศภายในแบบกัลยาณมิตรใช้เป็นคู่มือในการประเมินผลและแบบประเมินคุณภาพ การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของครู บันทึกคุณภาพการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของครู สถิติ ที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือค่าเฉลี่ย ( X ) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) การทดสอบค่าที (t - test แบบ Dependent Sample) และวิเคราะห์ข้อมูลเปรียบเทียบผลในระหว่างสัปดาห์โดยใช้ความ แปรปรวนแบบวัดซ้ำ (One – way Repeated – Measure ANOVA) ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการพัฒนารูปแบบการนิเทศแบบกัลยาณมิตรเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการ จัดกิจกรรมการเรียนการสอนของครูโรงเรียนวัดศรีวิชัยที่พัฒนาขึ้น มีองค์ประกอบ 5 ประการ คือ หลักการ วัตถุประสงค์ เนื้อหา กระบวนการนิเทศ และการวัดและประเมินผล ซึ่งมีกระบวนการ ดังต่อไปนี้ 1) การสร้างความเป็นมิตร การสร้างทัศนคติที่ดีต่อกัน ด้วยการพบปะ พูดคุยในการพัฒนา ความรู้ และทักษะต่างๆ ที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยการจัดประชุม กลุ่มย่อยของแต่ละระดับชั้น เพื่อให้ครูได้รับนวัตกรรมและความรู้ใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น 2) คิดวางแผน วิเคราะห์สภาพปัญหา ข้อดีและข้อด้อยร่วมกันในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน เพื่อกำหนด เป้าหมายให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน 3) หมั่นติดตามเยี่ยมชมการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ภายในห้องเรียนของผู้นิเทศอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศมีทัศนคติที่ดีต่อกัน
4) นำผลกลับมาวิเคราะห์ ปรับปรุงเพื่อหาข้อดี ข้อด้อย ในการให้คำแนะนำช่วยเหลือผู้รับการนิเทศ โดยการจัดประชุมกลุ่มย่อย และกลุ่มใหญ่ในแต่ละระดับชั้น เพื่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้ มีคุณภาพ และ 5) พัฒนาคุณภาพ โดยนำข้อดีมาปฏิบัติและเผยแพร่ให้กับครูผู้สอนทุกระดับชั้นได้ใช้ เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ส่วนข้อด้อยนำมาแก้ไข ปรับปรุงพัฒนาในการจัด กิจกรรมกาเรียนการสอนให้มีคุณภาพต่อไป
2. ผลการใช้รูปแบบการนิเทศแบบกัลยาณมิตรเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการจัด กิจกรรมการเรียนการสอนของครูโรงเรียนวัดศรีวิชัย ปรากฏว่า ก่อนได้รับ ขณะได้รับและสิ้นสุด กระบวนการนิเทศแบบกัลยาณมิตร มีคะแนนคุณภาพการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของครู ตั้งแต่ สัปดาห์ที่ 1 ถึงสัปดาห์ที่ 8 ดังนี้ ก่อนจัดกิจกรรม มีค่าเฉลี่ย 20.33 และระหว่างและหลังการจัด กิจกรรม 26.68, 35.17, 43.83, 43.56, 44.56, 45.53, 45.06, 44.25 คะแนนตามลำดับ แสดงว่า ตลอดช่วงระยะเวลา 8 สัปดาห์คะแนนเฉลี่ยของคุณภาพการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของครู แต่ละสัปดาห์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามลำดับ
3. ผลการวิเคราะห์ความแตกต่างและการเปลี่ยนแปลงของคะแนนคุณภาพการจัด กิจกรรมการเรียนการสอนของครูก่อนได้รับ ขณะได้รับ และสิ้นสุดกระบวนการนิเทศ ผลการวิเคราะห์ ปรากฏว่า มีการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของครู ดังนี้ ในสัปดาห์ที่ 1, 2 และสัปดาห์ที่ 3 มีคะแนนเฉลี่ยการเปลี่ยนแปลงคุณภาพการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 สำหรับสัปดาห์ที่ 4, 5, 6, 7 และสัปดาห์ที่ 8 มีคะแนน เฉลี่ยเพิ่มขึ้นแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ