การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
เศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนท้ายหาด
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มัธยมศึกษาสมุทรสาคร สมุทรสงคราม
ชื่อผู้ประเมิน นายพงศธร ลิมปาวิภากร
ปีการศึกษา 2564
บทคัดย่อ
รายงานการประเมินโครงการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนท้ายหาด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสมุทรสาคร สมุทรสงคราม ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินด้านสภาพแวดล้อม (Context Evaluation) ด้านปัจจัยเบื้องต้น (Input Evaluation) ด้านกระบวนการ (Process Evaluation) และด้านผลผลิต (Product Evaluation) รูปแบบการประเมินโครงการใช้แบบจำลองซิปป์ (CIPP Model) ของสตัฟเฟิลบีม (Stufflebeam) มาเป็นแนวทางในการประเมินโครงการ ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินประกอบด้วย ครูที่ปฏิบัติหน้าที่การสอน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนท้ายหาด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสมุทรสาคร สมุทรสงคราม ปีการศึกษา 2564 รวมทั้งสิ้นจำนวน 254 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการ ประกอบด้วย แบบสอบถาม จำนวน 5 ฉบับ และแบบบันทึกผลการประเมินพฤติกรรมนักเรียน จำนวน 1 ฉบับ รวมทั้งสิ้น 6 ฉบับ ดำเนินการตามโครงการ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยเก็บแบบสอบถาม และแบบบันทึกผลการประเมินพฤติกรรมนักเรียน วิเคราะห์ข้อมูล โดยการหาค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าร้อยละ และการแปลผลข้อมูล
ผลการประเมิน
1. ผลการประเมินด้านสภาพแวดล้อมของโครงการ พบว่า ผลการประเมินโดยรวมมีความสอดคล้องอยู่ในระดับ มาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด คือ ด้านความสอดคล้องของโครงการกับนโยบายการศึกษา รองลงมาคือ ความสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ส่วนด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด คือ ความสอดคล้องกับความต้องการและความจำเป็น ตามลำดับ
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยเบื้องต้นของโครงการ (Input Evaluation) พบว่า ผลการประเมิน โดยรวมอยู่ในระดับ มาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ความพอเพียงของสื่อ เอกสาร วัสดุ อุปกรณ์ รองลงมา คือ ความเหมาะสมของกิจกรรม ส่วนด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด คือ ความพอเพียงของบประมาณ ตามลำดับ
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการของโครงการ (Process Evaluation) พบว่า ผลการประเมินโดยรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับ มาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด คือ ด้านกระบวนการดำเนินกิจกรรม รองลงมา คือ ด้านกระบวนการประเมินผลและรายงานผล ส่วนด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุดคือ กระบวนการวางแผน (Plan) ตามลำดับ
4. ผลการประเมินด้านผลผลิต (Product Evaluation) พบว่า
1. ผลการประเมินด้านผลผลิตของโครงการ (Product Evaluation) ตามความเห็นของครูที่ปฏิบัติหน้าที่การสอน นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนท้ายหาด พบว่า ผลการประเมินโดยรวมมีความคิดเห็นอยู่ในระดับ มากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด คือ คุณธรรม จริยธรรม ความมีวินัยในตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รองลงมา คือ ด้านทักษะปฏิบัติโดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามลำดับ
2. ผลประเมินความพึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการจัดกิจกรรมตามโครงการ ตามความเห็นของครูที่ปฏิบัติหน้าที่การสอน นักเรียนและผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนท้ายหาด โดยรวมพบว่า มีความพึงพอใจอยู่ในระดับ มาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด คือ ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด คือ กิจกรรมในโครงการ ส่งเสริมให้นักเรียนสนุกกับการเรียนรู้มากยิ่งขึ้น รองลงมาคือ กิจกรรมในโครงการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือร่วมใจที่ดีระหว่างโรงเรียน ชุมชน ผู้ปกครองนักเรียน และผู้นำท้องถิ่น ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุดคือ กิจกรรมในโครงการทำให้นักเรียนมีเจตคติที่ดีต่อการทำงาน ตามลำดับ
3. ผลการประเมินพฤติกรรมการอยู่อย่างพอเพียงของนักเรียนโรงเรียน ท้ายหาด พบว่า ผลการประเมินพฤติกรรมการอยู่อย่างพอเพียง ระดับ ดีขึ้นไป ร้อยละ 96.13 โดยมีผลการประเมินพฤติกรรมการอยู่อย่างพอเพียงในระดับ ดีเยี่ยม ร้อยละ 65.33 มีผลการประเมินมีพฤติกรรมการอยู่อย่างพอเพียงในระดับ ดี ร้อยละ 30.80 มีผลประเมินพฤติกรรมการอยู่อย่างพอเพียงในระดับ ผ่าน ร้อยละ 3.87 และไม่มีนักเรียนที่ไม่ผ่านการประเมินพฤติกรรมการอยู่อย่างพอเพียง
จากผลการประเมินโครงการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนท้ายหาด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสมุทรสาคร สมุทรสงคราม ปีการศึกษา 2564 โดยภาพรวมพบว่า ประเด็นส่วนใหญ่ในการประเมินอยู่ในระดับ มาก ทำให้ผลการประเมินโครงการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนท้ายหาด ผ่านเกณฑ์การประเมินระดับ มาก