รายงานการประเมินโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน
แบบร่วมมือของโรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลบ้านคลอง เทศบาลตำบลบ้านคลอง
จังหวัดพิษณุโลก
ผู้วิจัย รัตติยา บุญยิ้ม
โรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลบ้านคลอง
ปีที่พิมพ์ 2564
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อประเมินความเหมาะสมของวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการ (2) เพื่อประเมินความพร้อมในด้านปัจจัยในการดำเนินงานตามโครงการ (3) เพื่อประเมินการปฏิบัติงานตามโครงการ ตลอดจนปัญหา และอุปสรรคที่เกิดขึ้นในการปฏิบัติงาน (4) เพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการ และ (5) เพื่อประเมินผลกระทบของโครงการ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้ (1) ครูผู้สอนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 6 จำนวน 8 คน (2) คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน (3) คณะกรรมการติดตามและประเมินผล จำนวน 5 คน (4) นักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 6 จำนวน 95 คน เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วย (1) แบบสอบถาม จำนวน 3 ฉบับ (2) แบบประเมิน จำนวน 6 ฉบับ (3) แบบทดสอบจำนวน 1 ฉบับ (4) แบบรายงานการประเมินกิจกรรม จำนวน 1 ฉบับ และ (5) แบบตรวจสอบรายการ จำนวน 1 ฉบับ สถิติที่ใช้คือ (1) ค่าร้อยละ (Persentage) (2) ค่าเฉลี่ย (Mean) (3) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และ (4) การหาค่าความเที่ยงตรง (Validity)
ผลการประเมินสรุปผลได้ดังนี้
จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้ สามารถสรุปผลการประเมินโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนที่เน้นการเรียนรู้แบบร่วมมือโรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลบ้านคลอง เทศบาลตำบลบ้านคลอง จังหวัดพิษณุโลก ได้ดังนี้
1. ผลการประเมินความเหมาะสมของวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการ
1.1 วัตถุประสงค์ของโครงการทั้ง 4 ข้อ ตามการประเมินของคณะกรรมการติดตามและประเมินผล มีความสอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และนโยบายของโรงเรียนด้านการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนทุกข้ออยู่ในเกณฑ์ที่ใช้ได้ และอยู่ในระดับสูงกว่าเกณฑ์ความพึงพอใจ
1.2 เป้าหมายของโครงการทั้ง 6 ข้อ ตามการประเมินของคณะกรรมการติดตามและประเมินผล มีความสอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และนโยบายของโรงเรียนด้านการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนทุกข้ออยู่ในเกณฑ์ที่ใช้ได้ และอยู่ในระดับสูงกว่าเกณฑ์ความพึงพอใจ
2. ปัจจัยในการดำเนินงานตามโครงการ ตามการประเมินของคณะกรรมการบริหารโครงการ ครูผู้สอน และคณะกรรมการติดตามและประเมินผล มีความพร้อมอยู่ในระดับมากที่สุดและทุกข้ออยู่ในระดับที่สูงกว่าเกณฑ์การประเมิน
3. ผลการประเมินการปฏิบัติงานตามโครงการ ขั้นการเตรียมการ ขั้นการดำเนินงาน และขั้นการประเมินผล ตามการประเมินของคณะกรรมการติดตามและประเมินผล โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุดและทุกข้ออยู่ในระดับที่สูงกว่าเกณฑ์การประเมิน
3.1 การจัดกิจกรรมประเภทให้ความรู้เกี่ยวกับ เรื่อง การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ ทั้ง 6 กิจกรรม ตามการประเมินของครู โดยรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด และอยู่ในระดับสูงกว่าเกณฑ์การประเมิน
3.2 การจัดกิจกรรมประเภทการประกวดและการแข่งขัน ตามการประเมินของครูผู้สอน โดยรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด และอยู่ในระดับสูงกว่าเกณฑ์การประเมิน
4. ผลการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของโครงการจากการทดสอบครู เรื่อง การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือ ก่อนและหลังร่วมโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนที่เน้นการเรียนรู้แบบร่วมมือ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยมีคะแนนเฉลี่ยหลังเข้าร่วมโครงการสูงกว่าก่อนเข้าร่วมโครงการ
5. ผลการประเมินผลกระทบของโครงการ
5.1 ผลกระทบต่อนักเรียน
5.1.1 จำนวนรางวัลหรือเกียรติบัตรที่นักเรียนได้รับหลังจากการดำเนินโครงการจำนวน 12 รายการ ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของโครงการ
5.1.2 ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อโครงการ โดยรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด และอยู่ในระดับที่สูงกว่าเกณฑ์การประเมิน
5.2 ผลกระทบต่อครู
5.2.1 จำนวนรางวัลหรือเกียรติบัตรที่ครูได้รับหลังจากการดำเนินโครงการจำนวน 10 รายการ ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของโครงการ
5.2.2 ความพึงพอใจของครูที่มีต่อโครงการ โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุดและอยู่ในระดับที่สูงกว่าเกณฑ์การประเมิน