การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนตามแนวคิด Active Learning
กระบวนการทางคณิตศาสตร์ในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
ผู้วิจัย นางเกตุสุดา หนูเอียด
โรงเรียน เทศบาล ๕ (พหลโยธินรามินทรภักดี)
ปีการศึกษา 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์1. เพื่อพัฒนาและหาประสิทธิภาพของรูปแบบการเรียนการสอน 2. เพื่อศึกษาประสิทธิผลของรูปแบบการเรียนการสอน และ 3. เพื่อขยายผลการใช้รูปแบบการเรียนการสอน กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทศบาล ๕ (พหลโยธินรามินทรภักดี) จำนวน 2 ห้องเรียน มีนักเรียนจำนวน 81 คน ซึ่งกำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยรูปแบบการเรียนการสอน แผนดำเนินการใช้รูปแบบการเรียนการสอนตามแนวคิด Active Learning เพื่อเสริมสร้างทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และแบบสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อกิจกรรมการเรียนการสอน วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย (x ̅ ) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยพบว่า
1. รูปแบบการเรียนการสอนตามแนวคิด Active Learning เพื่อเสริมสร้างทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 (PISCE Model) มี 5 องค์ประกอบ ซึ่งได้แก่1) หลักการ นักเรียนใช้ทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์สร้างองค์ความรู้และจัดระบบการเรียนรู้ด้วยตนเองจากการได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรม ได้รับความช่วยเหลือ แนะนำ ให้กำลังใจ ทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมาย เกิดความเชื่อมั่นในตนเอง มีทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ตระหนักถึงความสำคัญในการเรียน เห็นความสัมพันธ์และสามารถนำความรู้ทางคณิตศาสตร์ไปประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน 2) วัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ 3) กระบวนการจัดการเรียนการสอนมี 5 ขั้นตอนคือ (1) ขั้นการกำหนดปัญหา (Problem -Finding) (2) ขั้นการค้นหาความคิด (Idea -Finding) (3) ขั้นการเลือกกลวิธีในการแก้ปัญหา (Strategy -Finding) (4) ขั้นการร่วมมือกันปฏิบัติ (Collaborative practices) (5) ขั้นการประเมินผลและการประยุกต์ใช้(Evaluation & Application) 4) การวัดและประเมินผล วัดและประเมินผลจากสภาพจริงด้วยวิธีการที่หลากหลาย โดยประเมินผลจากพัฒนาการด้านทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ 5) ปัจจัยที่เอื้อต่อการเรียนรู้ด้านครู (1) มีความคิดรวบยอด (concept) ที่ถูกต้องชัดเจน (2) มีความเข้าใจในการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ ด้านนักเรียน นักเรียนจะต้องมีวินัยในตนเอง ค่าประสิทธิภาพของรูปแบบการเรียนการสอนเท่ากับ 81.44/80.80
2. หลังจากนักเรียนเรียนตามรูปแบบการเรียนการสอน (PISCE Model) นักเรียนมีพัฒนาการ ความสามารถด้านทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์สูงขึ้นและนักเรียนมีความเห็นต่อการใช้รูปแบบอยู่ในระดับมากที่สุด
3. ผลการขยายผลรูปแบบการเรียนการสอน (PISCE Model) พบว่านักเรียนมีพัฒนาการด้านทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์สูงขึ้น