พัฒนารูปแบบการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นฐานตามทฤษฎีการสร้างความรู้
ผู้วิจัย สัญญา โต๊ะหนู
โรงเรียน โรงเรียนเมืองพัทยา 8 (พัทธยานุxxxล) สังกัดสำนักการศึกษาเมืองพัทยา
ปีที่วิจัย 2564
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 2) สร้างรูปแบบการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นฐานตามทฤษฎีการสร้างความรู้ เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาและความรับผิดชอบต่อสังคมของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา 3 3) ทดลองใช้รูปแบบการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นฐานตามทฤษฎีการสร้างความรู้ เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาและความรับผิดชอบต่อสังคมของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา 3 และ 4) ประเมินผลการใช้รูปแบบการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นฐานตามทฤษฎีการสร้างความรู้ เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาและความรับผิดชอบต่อสังคมของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา 3 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 จำนวน 32 คน ซึ่งได้จากการเลือกแบบเจาะจง (Purposive sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยและเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถามปัญหาและอุปสรรคในการสอนวิชาสังคมศึกษา แบบประเมินรูปแบบฯ แบบประเมินความสามารถในการแก้ปัญหาและแบบวัดความรับผิดชอบต่อสังคม และแบบสอบถามวัดความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อรูปแบบ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที (t-test) ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาวิเคราะห์บริบทปัญหาและความต้องการการจัดการเรียนการสอนวิชาสังคมศึกษา ในศตวรรษที่ 21 พบว่า การจัดการเรียนการสอนวิชาสังคมศึกษาจะต้องคำนึงถึงความรู้ ทักษะและเจตคติใช้ในการปลูกฝังและส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการคิด วิธีคิด ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนจึงต้องเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ส่งเสริมการจัดแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย อันเป็นพื้นฐานของการเสริมสร้างความรู้ ความคิด ประสบการณ์ รวมทั้งปลูกฝังการประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ ความสามารถในการแก้ปัญหา และความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นต้น
2.ผลการพัฒนารูปแบบการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นฐานตามทฤษฎีการสร้างความรู้ เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาและความรับผิดชอบต่อสังคมของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา 3 ประกอบด้วย หลักการ วัตถุประสงค์ ขั้นตอนการสอน ได้แก่ ขั้นที่ 1 คิดค้นปัญหา ขั้นที่ 2 นำพาเข้าใจ ขั้นที่ 3 ใส่ใจเคร่งครัด ขั้นที่ 4 ร่วมจัดกติกา ขั้นที่ 5 พาสู่กิจกรรม ขั้นที่ 6 นำเสนอผลงาน และขั้นที่ 7 สืบสานประเมินค่า และการวัดผลประเมินผล เมื่อประเมินความเหมาะสมของรูปแบบ พบว่า ภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ("X" ̅ = 4.36 ,S.D.= 0.16) เมื่อพิจารณารายด้าน สามอันดับแรก ได้แก่ คู่มือการใช้รูปแบบการเรียนรู้ การวัดผลประเมินผล และองค์ประกอบของรูปแบบ ตามลำดับ
3.ผลการทดลองใช้รูปแบบการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นฐานตามทฤษฎีการสร้างความรู้ เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาและความรับผิดชอบต่อสังคมของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา 3 พบว่า
3.1ความสามารถในการแก้ปัญหาของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หลังการใช้รูปแบบฯสูงกว่าก่อนการใช้รูปแบบ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (t = 18.909, p = .000)
3.2ความรับผิดชอบต่อสังคมของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หลังการใช้รูปแบบฯ สูงกว่าก่อนใช้รูปแบบฯ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (t = 15.748, p = .000)
4.การประเมินรูปแบบการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นฐานตามทฤษฎีการสร้างความรู้ เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาและความรับผิดชอบต่อสังคมของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา 3 โดยการประเมินความพึงพอใจของนักเรียน พบว่า ภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายข้อ สามอันดับแรก ได้แก่ เป็นผู้ลงมือกระทำด้วยตนเอง เรียนรู้โดยเน้นจากประสบการณ์ มีโอกาสแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ฝึกแก้ปัญหาได้ดี สามารถนำความรู้ประสบการณ์ที่ได้รับไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ และฝึกทักษะการแก้ปัญหาด้วยตนเอง ตามลำดับ