การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ GERAFFE Model
ผู้วิจัย นางสาวจิตตาภัทร์ บุญมี
ปีที่พิมพ์ 2564
หน่วยงาน โรงเรียนบัวขาว องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับปัญหาและความต้องการจำเป็นในการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ GERAFFE Model เพื่อส่งเสริมความสามารถในการเขียนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 75/75 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ GERAFFE Model เพื่อส่งเสริมความสามารถในการเขียนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และ 4) เพื่อประเมินผล/ปรับปรุงรูปแบบการจัดการเรียนรู้ GERAFFE Model เพื่อส่งเสริมความสามารถในการเขียนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โดยการวิจัยครั้งนี้ได้ทดลองใช้กับกลุ่มตัวอย่างได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/1 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 โรงเรียนบัวขาว จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 38 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) โดยใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยสุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) รูปแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ GERAFFE Model 2) แผนการจัดการเรียนรู้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ GERAFFE Model 3) แบบสอบถามข้อมูลพื้นฐานเพื่อการจัดการเรียนรู้ 4) แบบสัมภาษณ์ครูผู้สอนเพื่อรวบรวมแนวคิดในการจัดกิจกรรมรูปแบบการจัดการเรียนรู้ 5) แบบทดสอบวัดความสามารถทางการเขียนและเกณฑ์ประเมินงานเขียน และ 6) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อรูปแบบการจัดการเรียนรู้ GERAFFE Model การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่า t-test แบบ Dependent Samples และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
1) ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐาน มีจำนวนนักเรียนหญิงตอบแบบสอบถามมากกว่านักเรียนชาย นักเรียนได้ผลการเรียน 3 มากที่สุดเมื่อเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และได้ผลการเรียน 4 น้อยที่สุด จะเห็นได้ว่าโดยทั่วไปแล้วนักเรียนต้องการที่จะพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษด้านการเขียนมากที่สุด ในขณะที่ต้องการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษด้านการฟังน้อยที่สุด นักเรียนชอบรูปแบบในการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารมากที่สุด การสอนแบบอภิปรายมีค่าร้อยละน้อยที่สุด ในขณะที่นักเรียนมีความชอบการเขียนบทร้อยกรองง่ายๆ การเขียนบรรยายลักษณะบุคคล และเรื่องเล่า/นิทานน้อยที่สุด นักเรียนต้องการเรียนด้วยสื่อแบบฝึกทักษะการเขียนมากที่สุด และต้องการเรียนด้วยบทเรียนสำเร็จรูปน้อยที่สุด นักเรียนรู้สึกชอบและภาคภูมิใจในกิจกรรมการจัดนิทรรศการมากที่สุด ในขณะที่ชอบการทดสอบย่อยน้อยที่สุด จากการสัมภาษณ์ครูผู้มีประสบการณ์ในด้านการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ สรุปความได้สอดคล้องกันว่านักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 มีปัญหาการเรียนวิชาภาษาอังกฤษในทักษะการเขียนค่อนข้างสูง โดยนักเรียนบางคนขาดความรู้ความเข้าใจในหลักการเบื้องต้นของการเรียนภาษาทำให้ขาดความมั่นใจในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ รวมถึงตัวนักเรียนขาดแรงจูงใจในการเรียน การจัดการเรียนการสอนด้วยวิธีการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนแต่ละคนสามารถทำงานกลุ่ม อภิปราย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันโดยมีครูเป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ ส่งเสริมผู้เรียนให้สามารถฝึกเขียนได้อย่างสะดวกสบายซึ่งเป็นการจัดการศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
2) ผลการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ GERAFFE Model เพื่อส่งเสริมความสามารถในการเขียนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ได้รูปแบบกิจกรรมที่พัฒนาขึ้นโดยรูปแบบมีองค์ประกอบคือ หลักการ วัตถุประสงค์ เนื้อหา กระบวนการกิจกรรม สิ่งที่เสริมการเรียนรู้ มีขั้นตอนดังนี้ 1) ขั้นสร้างความคิดที่หลากหลาย (Generating Ideas) 2) ขั้นกำหนดแนวคิดที่จะเขียน (Establishing a Viewpoint) 3) ขั้นการร่างงานเขียนแบบคร่าวๆ (Rough Drafting) 4) ขั้นเรียบเรียงข้อมูล (Arranging Information) 5) ขั้นร่างงานเขียน (First and Second Drafting) 6) ขั้นเขียนผลงานฉบับสมบูรณ์ (Finish Drafting) และ 7) ขั้นประเมินผลและแสดงผลงาน (Evaluation and Exhibition) ผลการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญ 5 ท่าน มีความคิดเห็นต่อรูปแบบการสอนโดยรวมอยู่ในระดับเหมาะสมมาก (X =4.32, S.D.=0.30) และผลการพัฒนารูปแบบการสอนมีประสิทธิภาพ E1/E2 = 78.25/76.74
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ GERAFFE Model เพื่อส่งเสริมความสามารถในการเขียนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 พบว่านักเรียนมีความสนใจ ในการเรียน นักเรียนให้ความร่วมมือในการปฏิบัติกิจกรรมเป็นอย่างดี นำเสนอผลงานด้วยความภาคภูมิใจ และความสามารถในการเขียนภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. ผลการประเมิน/ปรับปรุงรูปแบบการจัดการเรียนรู้ GERAFFE Model เพื่อส่งเสริมความสามารถในการเขียนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 พบว่า ความ พึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ GERAFFE Model เพื่อส่งเสริมความสามารถในการเขียนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โดยรวมอยู่ในระดับมาก และจากการปรับปรุงรูปแบบการสอนตามข้อคิดเห็นของนักเรียน เพื่อนครู และข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญทำให้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ GERAFFE Model เพื่อส่งเสริมความสามารถในการเขียนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 มีความสมบูรณ์และนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น