การพัฒนากลยุทธ์การยกระดับคุณภาพเด็กด้อยโอกาส
จังหวัดเพชรบูรณ์ สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ
ชื่อผู้วิจัย ชุติพร เหล็กคำ
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาคุณภาพเด็กด้อยโอกาส โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 57 จังหวัดเพชรบูรณ์ 2) พัฒนากลยุทธ์การยกระดับคุณภาพเด็กด้อยโอกาสในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 57 จังหวัดเพชรบูรณ์ สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ 3) ใช้กลยุทธ์การยกระดับคุณภาพเด็กด้อยโอกาสในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 57 จังหวัดเพชรบูรณ์ สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ และ 4) รายงานผลการใช้กลยุทธ์การยกระดับคุณภาพเด็กด้อยโอกาสในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 57 จังหวัดเพชรบูรณ์ สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ดำเนินการวิจัยเป็น 4 ขั้นตอนตามวัตถุประสงค์ กลุ่มประชากรที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 57 จังหวัดเพชรบูรณ์ ปีการศึกษา 2564 จำนวน 701 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง 2) แบบวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอก/ภายใน 3) แบบสอบถามความคิดเห็น และแบบประเมินความเป็นไปได้และความเป็นประโยชน์ของแผนกลยุทธ์การยกระดับคุณภาพเด็กด้อยโอกาส โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 57 จังหวัดเพชรบูรณ์ สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)
ผลการวิจัยพบว่า
1. องค์ประกอบคุณภาพเด็กด้อยโอกาส ในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 57 จังหวัดเพชรบูรณ์ สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ มี 4 องค์ประกอบ คือ 1) คุณภาพด้านร่างกาย 2) คุณภาพด้านวิชาการ 3) คุณภาพด้านจิตใจ อารมณ์ และสังคม และ 4) คุณภาพด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์
2. การพัฒนาแผนกลยุทธ์การยกระดับคุณภาพเด็กด้อยโอกาส ในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 57 จังหวัดเพชรบูรณ์ สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ประกอบด้วย 6 ประเด็นกลยุทธ์ ได้แก่ ประเด็นกลยุทธ์ที่ 1 ส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิและโอกาสทางการศึกษา ประเด็นกลยุทธ์ที่ 2 พัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการเพื่อพัฒนาคุณภาพเด็กด้อยโอกาสให้มีประสิทธิภาพ ประเด็นกลยุทธ์ที่ 3 พัฒนาบุคลากรด้านการจัดการศึกษาสำหรับเด็กด้อยโอกาสมืออาชีพ ประเด็นกลยุทธ์ที่ 4 เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงบประมาณ วัสดุ อุปกรณ์ทางการศึกษาและแหล่งเรียนรู้ ประเด็นกลยุทธ์ที่ 5 ส่งเสริมการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพเด็กด้อยโอกาสให้ให้มีคุณภาพเต็มตามศักยภาพของตน และประเด็นกลยุทธ์ที่ 6 สร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพเด็กด้อยโอกาสที่มีประสิทธิภาพ และ ผลการประเมินกลยุทธ์ พบว่าในภาพรวมความเป็นไปได้ของวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าประสงค์ ประเด็นกลยุทธ์ของแผนกลยุทธ์การพัฒนาคุณภาพเด็กด้อยโอกาสในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 57 จังหวัดเพชรบูรณ์ สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ อยู่ในระดับมากที่สุด
3. การนำแผนกลยุทธ์การยกระดับคุณภาพเด็กด้อยโอกาส ในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 57 จังหวัดเพชรบูรณ์ สู่การปฏิบัติในปีการศึกษา 2564 โดยใช้วงจรการบริหารแบบเดมิ่ง (Deming Cycle) การบริหารให้ครบวงจร จัดระบบการบริหารให้ครบทั้ง 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1) ขั้นตอนการวางแผน (Plan or Planning) 2) ขั้นตอนการนำแผนไปปฏิบัติ (Do or Implementation) 3) ขั้นตอนการติดตามประเมินผล (Check or Evaluation) และ 4) ขั้นตอนปรับมาตรฐาน (Act or Standardization)
4. ผลการประเมินคุณภาพนักเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 57 จังหวัดเพชรบูรณ์ 4 ด้าน ได้แก่1) คุณภาพด้านร่างกาย 2) คุณภาพด้านวิชาการ 3) คุณภาพด้านจิตใจ อารมณ์ และสังคม และ 4) คุณภาพด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ พบว่าผ่านเกณฑ์ตามที่สถานศึกษากำหนด มีพัฒนาการเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีการศึกษา 2563 มีรางวัลยกย่องชมเชยแสดงถึงผลสำเร็จของการพัฒนาในเชิงประจักษ์