รายงานการพัฒนารูปแบบการนิเทศแบบบูรณาการ
ของครูระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ผู้วิจัย : นางอารี ภูมิพันธุ์ โรงเรียนบ้านโคกลอย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบุรีรัมย์ เขต 3
ปี : 2564
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นในการพัฒนารูปแบบการนิเทศแบบบูรณาการเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครูระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2) เพื่อสร้างและตรวจสอบคุณภาพของรูปแบบการนิเทศแบบบูรณาการเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครูระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 3) เพื่อศึกษาผลการใช้รูปแบบการนิเทศแบบบูรณาการเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครูระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ 4) เพื่อประเมินความพึงพอใจของครูผู้รับการนิเทศที่มีต่อรูปแบบการนิเทศแบบบูรณาการเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครู ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีขั้นตอนการวิจัย 4 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นในการพัฒนารูปแบบการนิเทศแบบบูรณาการเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครูระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยการสังเคราะห์เอกสารและการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ 9 ท่าน ขั้นตอนที่ 2 สร้างและตรวจสอบคุณภาพของรูปแบบการนิเทศแบบบูรณาการเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครูระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยการสร้างรูปแบบการนิเทศแบบบูรณาการ แล้วจัดทำคู่มือการใช้รูปแบบการนิเทศหลังจากนั้นจึงได้ตรวจสอบรูปแบบการนิเทศแบบบูรณาการ โดยผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 12 ท่าน หลังจากนั้นจึงนำไปรับปรุงรูปแบบการนิเทศแบบบูรณาการ ขั้นตอนที่ 3 การศึกษาผลการใช้รูปแบบการนิเทศแบบบูรณาการเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครูระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขั้นตอนที่ 4 ประเมินความพึงพอใจของครูผู้รับการนิเทศที่มีต่อรูปแบบการนิเทศแบบบูรณาการเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครูระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยครูผู้สอนในกลุ่มโรงเรียนสว่างสูงกระสังที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการการจัดการเรียนรู้เชิงรุก จำนวน 30 คน ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐาน พบว่า การนิเทศแบบบูรณาการเป็นกระบวนการและกิจกรรมที่มุ่งให้ความช่วยเหลือ แนะนำ ส่งเสริม ปรับปรุงในการสอนของครูมี่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนโดยใช้การจัดการเรียนรู้เชิงรุก เกิดจากการบูรณาการการนิเทศแบบคลินิก การนิเทศแบบชี้แนะทางปัญญา และการนิเทศแบบพี่เลี้ยง
2. ผลการสร้างและตรวจสอบคุณภาพรูปแบบการนิเทศแบบบูรณาการ เพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครูระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า รูปแบบการนิเทศมีกระบวนการ 5 ขั้นตอน ประกอบด้วย ขั้น 1 วางแผนกำหนดทิศทาง (D: Directional planning) ขั้น 2 ร่วมสร้างประสบการณ์ (C: Co-create the experience) ขั้น 3 ปฏิบัติการณ์จัดการ (O: Operations management) ขั้น 4 เรียนรู้เพื่อพัฒนา (L: Learn to develop) และขั้น 5 แลกเปลี่ยนเรียนรู้ (L: Learning to exchange) ซึ่งผลการประเมินตรวจสอบรูปแบบการนิเทศแบบบูรณาการเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุก พบว่า ความถูกต้องอยู่ในระดับมาก ความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ความเป็นไปได้อยู่ในระดับมาก และความเป็นประโยชน์อยู่ในระดับมาก และผลการประเมินตรวจสอบคู่มือการใช้รูปแบบการนิเทศแบบบูรณาการ พบว่า ความถูกต้องอยู่ในระดับมาก ความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ความเป็นไปได้อยู่ในระดับมาก และความเป็นประโยชน์อยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนผลการทดลองใช้รูปแบบการนิเทศแบบบูรณาการเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครูระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า ครูผู้สอนมีความรู้ ความเข้าใจ สามารถออกแบบการจัดการเรียนรู้ เขียนแผนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก จัดกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุกและมีการวัดผลและประเมินผลการจัดการเรียนรู้เชิงรุกได้
3. ผลการศึกษาการใช้รูปแบบการนิเทศแบบบูรณาการ เพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครูระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า ครูมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้เชิงรุกหลังการส่งเสริมสูงกว่าก่อนการส่งเสริมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ผลการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครูระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานอยู่ในระดับมากที่สุด และมีเจตคติต่อการจัดการเรียนรู้เชิงรุกอยู่ในระดับมาก
4. ผลการประเมินความพึงพอใจที่มีต่อรูปแบบการนิเทศแบบบูรณาการเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครูระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า ภาพรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด