การประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน
รายงานผลการประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดสระบุรี สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อประเมินสภาวะแวดล้อม (Context) ของโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน 2) เพื่อประเมินปัจจัยนำเข้า (Input) ของโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน 3) เพื่อประเมินกระบวนการ (Process) ของโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน 4) เพื่อประเมินผลผลิต (Product) ของโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน 5) เพื่อประเมินความพึงพอใจของผู้ปกครองที่มีต่อโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน การประเมินครั้งนี้ใช้กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้บริหาร จำนวน 2 คน ครู จำนวน 36 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 13 คน และผู้ปกครอง จำนวน 152 คน รวมทั้งหมด 203 คน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการประเมินสรุปได้ดังนี้
ผลการประเมินพบว่า
การประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดสระบุรี ในภาพรวมทั้ง 4 ด้าน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยเรียงจากมากไปน้อย คือ ด้านผลผลิต ด้านกระบวนการ ด้านสภาวะแวดล้อม ด้านปัจจัยนำเข้า ตามลำดับ เมื่อพิจารณารายละเอียดแต่ละด้าน ปรากฏผลดังนี้
ด้านสภาวะแวดล้อม ความคิดเห็นของผู้บริหาร ครู และคณะกรรมการสถานศึกษา ขั้นพื้นฐาน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาโดยเรียงจากค่าเฉลี่ย ระดับความคิดเห็นสูงสุด 3 อันดับ พบว่า อันดับแรก คือ ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดสระบุรีมีทิศทางในการดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่สอดคล้องกับบริบทของศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดสระบุรี รองลงมาคือ โครงการตอบสนองความต้องการของผู้ปกครองนักเรียน และวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการมีความเหมาะสมชัดเจน ตามลำดับ
ด้านปัจจัยนำเข้า ความคิดเห็นของผู้บริหาร ครูและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาโดยเรียงจากค่าเฉลี่ยระดับความคิดเห็นสูงสุด 3 อันดับ พบว่า อันดับแรก คือ ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการดำเนินงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน รองลงมาคือ ครูประจำชั้น/ครูประจำอำเภอ ตระหนักและเห็นความสำคัญในการดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน และผู้ปกครองให้ความร่วมมือกับศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดสระบุรี ในการดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ตามลำดับ
ด้านกระบวนการ ความคิดเห็นของผู้บริหาร ครู และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เกี่ยวกับ กระบวนการทำงาน 5 ขั้นตอน คือ 1) การรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล 2) การคัดกรองนักเรียน 3) การส่งเสริมนักเรียน 4) การป้องกันและช่วยเหลือ 5) การส่งต่อ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่าทุกรายการอยู่ในระดับมากเช่นเดียวกัน เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย คือ การคัดกรองนักเรียน การป้องกันและช่วยเหลือ การรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล การส่งเสริมนักเรียน และการส่งต่อ ตามลำดับ
ด้านผลผลิต ความคิดเห็นของผู้บริหาร ครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ปกครองนักเรียน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาโดยเรียงจากค่าเฉลี่ยระดับความคิดเห็นสูงสุด 3 อันดับ พบว่า อันดับแรก คือ ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดสระบุรี วิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานนักเรียน สรุปผล และจัดเก็บอย่างเป็นระบบ รองลงมาคือ ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดสระบุรีจัดทำระเบียนสะสมนักเรียนเป็นรายบุคคลที่เป็นปัจจุบัน ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดสระบุรีบันทึกการตรวจสุขภาพนักเรียนประจำปี ตามลำดับ
ผลการประเมินความพึงพอใจของผู้ปกครองที่มีต่อโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดสระบุรี พบว่า ระดับความพึงพอใจของผู้ปกครองนักเรียนที่มีโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดสระบุรี โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก