การประเมินผลและถอดบทเรียนโครงการขับเคลื่อนหลักปรัชญา
ชื่อผู้ประเมิน : ธันยากร แพกุล
ปีที่ศึกษา : 2564
บทคัดย่อ
การประเมินผลและถอดบทเรียนโครงการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษา เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดสร้างสรรค์ และยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนโรงเรียนเทศบาล 5 (วัดควนขัน) มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อประเมินโครงการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษา เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดสร้างสรรค์ และยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ของนักเรียนโรงเรียนเทศบาล 5 (วัดควนขัน) ในด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ ด้านผลผลิต ด้านผลกระทบ ด้านประสิทธิผล ด้านความยั่งยืน และด้านการถ่ายโยงความรู้ 2) เพื่อถอดบทเรียนการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษาเพื่อส่งเสริมทักษะการคิดสร้างสรรค์ และยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน กลุ่มตัวอย่างที่ได้มาโดยการสุ่มแบบง่าย (Simple Random Sampling) โดยเปิดตารางของ Krejcie & Morgan เป็นครูจำนวน 15 คน นักเรียนจำนวน 114 คน และและผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 114 คน ชองโรงเรียนเทศบาล 5 (วัดควนขัน) ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 เครื่องมือที่ใช้ เป็นแบบสอบถามจำนวน 3 ฉบับ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าร้อยละค่าเฉลี่ยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการประเมินพบว่า 1โครงการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษา เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดสร้างสรรค์ และยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนโรงเรียนเทศบาล 5 (วัดควนขัน) โดยภาพรวมและรายด้านอยู่ในระดับมาก เรียงตามค่าเฉลี่ยจากมาก ไปน้อย คือ ด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านความยั่งยืน ด้านประสิทธิผล ความพึงพอใจต่อโครงการ ด้านกระบวนการ ผลผลิตของโครงการ และด้านการถ่ายโยงความรู้ 2) การถอดบทเรียนโครงการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษา เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดสร้างสรรค์ และยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน สรุปได้ว่า ควรเร่งดำเนินการพัฒนาหลักสูตร เพื่อให้รองรับกับสถานการณ์การระบาดของ โควิด-19 อีกทั้งเพิ่มความยืดหยุ่นของโครงสร้างเวลาเรียนและความหลากหลายของรูปแบบการเรียนรู้ ทั้งแบบ Online แบบ On-Hand และ แบบ On Site อีกทั้งการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา ควรเร่งดำเนินการ โดยเฉพาะปัญหาด้านความพอเพียง การใช้จ่ายอย่างประหยัด มุ่งให้นักเรียนมีความซื่อสัตย์ สุจริต และควรส่งเสริมการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เกิดกับนักเรียนอย่างเป็นจริงในทางปฏิบัติ เช่น การส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์โดยใช้โครงงานเป็นฐาน กิจกรรมตลาดนัดควนขัน การทำแปลงผักไฮโดรโปนิกส์ การเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ แล้วจึงขยายผลออกไปสู่ครอบครัว และสู่ชุมชน ทำให้ได้สมาชิกของชุมชนที่มีคุณภาพตามที่สังคมต้องการ