รายงานการประเมินโครงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยใช้ก
ผู้รายงาน นายจรูญ รักบุตร
ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการโรงเรียนเหนือคลองประชาบำรุง
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาตรัง กระบี่
ปีที่รายงาน ปีการศึกษา 2564
บทสรุป
รายงานการประเมินโครงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยใช้กลยุทธ์ “สานสายใยรัก” โรงเรียนเหนือคลองประชาบำรุง ปีการศึกษา 2564 มีวัตถุประสงค์เพื่อ ประเมินด้านสภาพแวดล้อม ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิตของโครงการ ประกอบด้วย 1) ระดับคุณภาพของการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนโดยใช้กลยุทธ์ “สานสายใยรัก” 2) การมีส่วนร่วมของนักเรียน ครู และผู้ปกครอง ในการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน 3) ผลการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียน และ 4) ความพึงพอใจของนักเรียน ครู และผู้ปกครอง ต่อการดำเนินโครงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนโดยใช้กลยุทธ์ “สานสายใยรัก” กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินประกอบด้วย นักเรียน จำนวน 318 คน ครู จำนวน 86 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 13 คน และผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 318 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินมี 2 ลักษณะ รวมทั้งสิ้น 7 ฉบับ ได้แก่ แบบสอบถามที่มีลักษณะเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) มี 5 ระดับ จำนวน 6 ฉบับ และแบบบันทึกข้อมูลตามสภาพจริงเกี่ยวกับผลการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียน จำนวน 1 ฉบับ มีการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือทุกฉบับโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป ได้ค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามแต่ละฉบับอยู่ระหว่าง 0.865-0.947 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ หาค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)
สรุปผลการประเมิน พบว่า
1. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลด้านสภาพแวดล้อมของโครงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนโดยใช้กลยุทธ์ “สานสายใยรัก” โรงเรียนเหนือคลองประชาบำรุง ปีการศึกษา 2564 ตามความคิดเห็นของครูและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า ทั้งสองกลุ่มที่ประเมินมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ได้คะแนนรวมเฉลี่ย 15 ผ่านเกณฑ์การประเมินทั้งภาพรวมและทุกประเด็นตัวชี้วัด
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนโดยใช้กลยุทธ์ “สานสายใยรัก” โรงเรียนเหนือคลองประชาบำรุง ปีการศึกษา 2564 ตามความคิดเห็นของครู พบว่า โดยรวมมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ได้คะแนนรวมเฉลี่ย 15 ผ่านเกณฑ์ การประเมินทุกประเด็นและทุกตัวชี้วัด มีค่าเฉลี่ย ( = 4.42, S.D.= 0.64) อยู่ในระดับมาก
3. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลด้านกระบวนการ ดำเนินโครงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนโดยใช้กลยุทธ์ “สานสายใยรัก” โรงเรียนเหนือคลองประชาบำรุง ปีการศึกษา 2564 ตามความคิดเห็นของนักเรียน ครูและ ผู้ปกครอง พบว่า ทั้งสามกลุ่มที่ประเมินมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ได้คะแนนรวมเฉลี่ย 20 ผ่านเกณฑ์
4. ผลการประเมินด้านผลผลิตของโครงการ ได้แก่
4.1 สรุปผลการวิเคราะห์ข้อมูลด้านผลผลิตของโครงการเกี่ยวกับระดับคุณภาพระบบการดูแลช่วยเหลือโดยใช้กลยุทธ์ “สานสายใยรัก” โรงเรียนเหนือคลองประชาบำรุง ปีการศึกษา 2564 ตามความคิดเห็นของนักเรียน ครูและผู้ปกครอง พบว่า ทั้งสามกลุ่มที่ประเมินมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ได้คะแนนเฉลี่ย 20 ผ่านเกณฑ์ การประเมินทั้งภาพรวมและทุกประเด็นตัวชี้วัด
4.2 ผลการวิเคราะห์ข้อมูลด้านผลผลิตของโครงการเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของนักเรียน ครู และผู้ปกครองนักเรียนในโครงการการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยใช้กลยุทธ์ “สานสายใยรัก” โรงเรียนเหนือคลองประชาบำรุง ปีการศึกษา 2564 ตามความคิดเห็นของนักเรียน ครูและผู้ปกครอง พบว่า ทั้งสามกลุ่มที่ประเมินมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ได้คะแนนรวมเฉลี่ย 10 ผ่านเกณฑ์การประเมิน ทั้งภาพรวมและทุกประเด็นตัวชี้วัด
4.3 ผลจากข้อมูลด้านผลผลิตโครงการเกี่ยวกับผลการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียนตามแบบบันทึกผลการประเมินตามสภาพจริง พบว่า ปีการศึกษา 2563 โดยภาพรวมมีจำนวนนักเรียนที่มีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ จำนวน 832 คน คิดเป็นร้อยละ 44.87 ปีการศึกษา 2564 โดยภาพรวมมีจำนวนนักเรียนที่มีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ จำนวน 415 คน คิดเป็นร้อยละ 22.85 แสดงให้เห็นว่า จำนวนนักเรียนที่มีพฤติกรรมนักเรียนที่ไม่พึงประสงค์ลดลง จำนวน 417 คน คิดเป็น ร้อยละ 22.02 สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ได้คะแนนรวมเฉลี่ย 10 ผ่านเกณฑ์การประเมิน
4.4 ผลการวิเคราะห์ข้อมูลด้านผลผลิตเกี่ยวกับความพึงพอใจของนักเรียนครู และผู้ปกครองนักเรียนต่อการดำเนินโครงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนโดยใช้กลยุทธ์ “สานสายใยรัก” โรงเรียนเหนือคลองประชาบำรุง ปีการศึกษา 2564 พบว่า ทั้งสามกลุ่มที่ประเมิน มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ได้คะแนนรวมเฉลี่ย 10 ผ่านเกณฑ์การประเมิน ทั้งภาพรวมและ ทุกประเด็นตัวชี้วัดมีค่าเฉลี่ยความพึงพอใจ อยู่ในระดับมากที่สุด
ข้อเสนอแนะ
1. ข้อเสนอแนะในการนำผลการประเมินไปใช้
1.1 โรงเรียนหรือฝ่ายบริหารควรกำหนดนโยบาย วิสัยทัศน์ และเป้าหมายการพัฒนาเกี่ยวกับระบบการดูแลช่วยเหลือให้ชัดเจน ภายใต้การมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง สร้างความรู้ ความเข้าใจและให้ความตระหนักแก่ผู้เกี่ยวข้อง และเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายร่วมกันกำหนดกลยุทธ์ กิจกรรมหลักและกิจกรรมย่อย ๆ ต่าง ๆ ร่วมกันนิเทศติดตามและการสะท้อนผลกลับเพื่อปรับปรุง พัฒนาต่อไป
1.2 โรงเรียนควรส่งเสริมให้ครูได้พัฒนาตนเองทั้งความรู้และบุคลิกภาพเพื่อเป็นแบบอย่างแก่นักเรียน สร้างความตระหนักให้ครูทุ่มเทดูแลนักเรียน ส่งเสริมให้ครูมีการบูรณาการการสอนในรายวิชาพร้อม ๆ กับพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน ไว้ในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้
1.3 โรงเรียนควรเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองเข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนต้องส่งเสริมให้ผู้ปกครองเข้าร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ เกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงลูกให้มีพฤติกรรมที่ดีที่พึงประสงค์
1.4 โรงเรียนควรส่งเสริมการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นการส่งเสริมให้นักเรียนได้ปฏิบัติกิจกรรมแสดงศักยภาพ เพื่อพัฒนาตนเอง เพื่อน พี่ และน้อง ๆ ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น กิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อน ค่ายเยาวชนคนดี สภานักเรียน อย่างต่อเนื่อง
1.5 หลังการดำเนินโครงการ ควรมีการตรวจสอบพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของนักเรียนอย่างน้อยภาคเรียนละ 1 ครั้ง เพื่อดูแนวความคงทน และยั่งยืนของพฤติกรรมอันพึงประสงค์ของนักเรียน
2. ข้อเสนอแนะในการประเมินโครงการ หรือการวิจัยครั้งต่อไป
2.1 ควรศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการพัฒนานักเรียนให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์
2.2 ควรศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสภาพของครอบครัวและสิ่งแวดล้อมที่นักเรียนอาศัยของนักเรียนกับพฤติกรรมอันพึงประสงค์