รายงานการประเมินโครงการโรงเรียนคุณธรรม โรงเรียนพุทธิโศภน
ชื่อผู้ประเมิน ศิริพร เตชนันต์
ปีที่ศึกษา 2564
บทคัดย่อ
รายงานการประเมินโครงการโรงเรียนคุณธรรม โรงเรียนพุทธิโศภน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการโรงเรียนคุณธรรม โรงเรียนพุทธิโศภน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ในด้านบริบท (Context) ด้านปัจจัยเบื้องต้น (Input) ด้านกระบวนการ (Process) และด้านผลผลิต (Product) ประชากรที่ใช้ในการประเมิน คือ บุคคลที่มีส่วนร่วมในการดำเนินงานตามโครงการโรงเรียนคุณธรรมของโรงเรียนพุทธิโศภน ปีการศึกษา 2564 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่เขต 1 จำนวน 2,155 คน ประกอบด้วยผู้บริหารสถานศึกษาจำนวน 3 คน ครูผู้สอน จำนวน 67 คน คณะกรรมการสถานศึกษาจำนวน 13 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1– 6จำนวน 1,035 คน ผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1–6 จำนวน 1,035 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมิน จำนวน 365 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษาจำนวน 2 คน ครูผู้สอน จำนวน 50 คน คณะกรรมการสถานศึกษาจำนวน 13 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6 จำนวน 150 คน โดยสุ่มจากจำนวนประชากรด้วยวิธีสุ่มอย่างง่ายเทียบจากตารางการกำหนดค่าของ Krejcie and Morgan และผู้ปกครองจำนวน 150 คนโดยสุ่มแบบเจาะจงจากผู้ปกครองนักเรียนที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง เครื่องมือในการประเมินครั้งนี้ ประกอบด้วย แบบสอบถาม จำนวน 4 ฉบับและแบบสัมภาษณ์ จำนวน 3 ฉบับ ตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือโดยผู้เชี่ยวชาญ วิเคราะห์หาค่าดัชนีความสอดคล้อง (IOC) และวิเคราะห์หาค่าความเชื่อมั่น เก็บรวบรวมข้อมูลทั้งก่อนการดำเนินงานโครงการ ระหว่างการดำเนินงานโครงการ และเมื่อสิ้นสุดโครงการ วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ส่วนข้อมูลจากแบบสอบถามแบบปลายเปิดใช้การวิเคราะห์เนื้อหาและข้อมูลจากแบบสัมภาษณ์วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าความถี่และนำเสนอโดยการพรรณนาความ
ผลการประเมิน พบว่า
ผลการประเมินโครงการโรงเรียนคุณธรรม โรงเรียนพุทธิโศภน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ สรุปผลการประเมินตามวัตถุประสงค์ ดังนี้
1. ผลการประเมินโครงการด้านบริบท (Context)
ผลการประเมินโครงการโรงเรียนคุณธรรม โรงเรียนพุทธิโศภน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ด้านบริบท (Context) ในภาพรวมผลการประเมินอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ และผลการประเมินยังพบว่า หลักการและเหตุผล วัตถุประสงค์ และเป้าหมายของโครงการมีความสอดคล้องกับนโยบาย สภาพของโรงเรียนและชุมชนและสามารถนำไปปฏิบัติให้สำเร็จได้
2. ผลการประเมินโครงการด้านปัจจัยเบื้องต้น (Input)
ผลการประเมินโครงการโรงเรียนคุณธรรม โรงเรียนพุทธิโศภน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ด้านปัจจัยเบื้องต้น (Input) ในภาพรวมผลการประเมินอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ผลการประเมิน พบว่า บุคลากรมีเพียงพอ ครูและผู้บริหารมีความพร้อมในการดำเนินงานโครงการ ผู้ปกครองเห็นความสำคัญในการดำเนินงานโครงการ วัสดุอุปกรณ์มีเพียงพอและมีประสิทธิภาพ ครูพระสอนศีลธรรม อาคารสถานที่ แหล่งเรียนรู้ มีความเหมาะสม ส่วนปัญหาอุปสรรคด้านปัจจัยเบื้องต้น พบว่า การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้นักเรียนไม่ได้ไปศึกษาแหล่งเรียนรู้นอกสถานที่และมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นซึ่งส่งผลกับการจัดกิจกรรมของนักเรียนเป็นอย่างมาก
3. ผลการประเมินโครงการด้านกระบวนการ (Process)
ผลการประเมินโครงการโรงเรียนคุณธรรม โรงเรียนพุทธิโศภน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ด้านกระบวนการ (Process) ในภาพรวมผลการประเมินอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ และผลการประเมินพบว่า มีการประชุมวางแผนการดำเนินงาน พัฒนาอาคารสถานที่ จัดหาวัสดุอุปกรณ์ สื่อและเทคโนโลยีและแหล่งเรียนรู้สนับสนุนการดำเนินงาน มีการนำนักเรียนไปศึกษาจากแหล่งเรียนรู้ มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมนักเรียน คือ การอบรมคุณธรรมจริยธรรมหน้าเสาธง กิจกรรมเปิดบ้านคุณธรรม กิจกรรมสวดมนต์ทำสมาธิก่อนเข้าเรียน กิจกรรมทำบุญตักบาตร ส่วนปัญหาอุปสรรค พบว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ต้องจัดกิจกรรมในรูปแบบออนไลน์ทำให้กิจกรรมขาดความต่อเนื่องและไม่สามารถดำเนินการให้ครบทุกกิจกรรมตามที่กำหนดไว้ได้ การนิเทศ กำกับติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานต้องปรับไปตามสถานการณ์อาจไม่ตรงตามปฏิทินที่กำหนดไว้
4. ผลการประเมินโครงการด้านผลผลิต (Product)
ผลการประเมินโครงการโรงเรียนคุณธรรม โรงเรียนพุทธิโศภน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ด้านผลผลิต (Product) ในภาพรวมผลการประเมินอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ยังพบว่า นักเรียนมีคุณธรรมจริยธรรม มีความรับผิดชอบในงานที่ได้รับมอบหมาย มีวินัย ปฏิบัติตามกฎระเบียบของโรงเรียน ชุมชนและสังคมและมีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น สามารถนำหลักไตรสิกขา (ศีล สมาธิ ปัญญา) ไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้