ผลงานวิชาการนางฑิตยา คำพรมมา
ผู้วิจัย นางฑิตยา คำพรมมา
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
หน่วยงาน โรงเรียนหนองเหล็กศึกษา สำนักการศึกษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม
ปีที่ทำการวิจัย ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามทฤษฎีการสร้างความรู้ร่วมกับการเรียนรู้แบบ CIPPA 2) สร้างและพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามทฤษฎีการสร้างความรู้ร่วมกับเรียนรู้แบบ CIPPA เพื่อพัฒนาความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ เรื่อง เศรษฐศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
3) ศึกษาผลการใช้รูปแบบที่พัฒนาขึ้น ได้แก่ หาประสิทธิภาพของรูปแบบ เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณก่อนเรียนและหลังเรียน และศึกษาความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยรูปแบบที่พัฒนาขึ้น 4) ศึกษาความคิดเห็นต่อการใช้รูปแบบตามทฤษฎีการสร้างความรู้ร่วมกับการเรียนรู้แบบ CIPPA ที่พัฒนาขึ้น กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/1 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 โรงเรียนหนองเหล็กศึกษา สำนักการศึกษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม จำนวน 36 คน และกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ครูผู้สอนรายวิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ในโรงเรียนสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม จำนวน 20 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แบบสัมภาษณ์ 2) แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ 3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 4) แบบวัดความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ 5) แบบวัดความพึงพอใจ และ 6) แบบประเมินความคิดเห็นต่อการใช้รูปแบบ สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบ t-test
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐาน พบว่า การเรียนวิชาสังคมศึกษาครูจะเน้นเล่าเรื่อง ใช้วิธีบรรยายเพราะเนื้อหาสาระมีมาก เวลามีจำกัดในการทำกิจกรรมและครูขาดความรู้ในการใช้สื่อด้านเทคโนโลยี นักเรียนในแต่ละห้องมีจำนวนมากทำให้ดำเนินกิจกรรมไม่สะดวก ยากต่อการเปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วม ไม่เน้นให้นักเรียนสร้างความรู้ด้วยตัวเอง ทำให้นักเรียนไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับครูผู้สอน เพื่อน และแหล่งความรู้จากสื่ออื่น ทำให้นักเรียนขาดทักษะการคิด และขาดทักษะการสร้างความรู้ด้วยตนเอง การพัฒนาความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ จึงควรเน้นนักเรียนเป็นสำคัญ เน้นการลงมือปฏิบัติจริงด้วยตัวเอง โดยมีครูเป็นผู้ชี้แนะคอยให้คำปรึกษา จึงจะทำให้นักเรียนได้มีปฏิสัมพันธ์กับครูผู้สอน เพื่อน และแหล่งความรู้จากสื่ออื่น โดยจัดกิจกรรมที่หลากหลายและมีรูปแบบการสอนที่ชัดเจน จะสามารถพัฒนาความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณให้กับนักเรียนได้
2. ผลการพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามทฤษฎีการสร้างความรู้ร่วมกับการเรียนรู้แบบ CIPPA เพื่อพัฒนาความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ เรื่อง เศรษฐศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 (RPALA Model) มีองค์ประกอบ 6 องค์ประกอบ คือ
1. หลักการ 2. วัตถุประสงค์ 3. ขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ 4. ระบบสังคม 5. หลักการตอบสนอง และ 6. ระบบสนับสนุน โดยมีขั้นตอนการจัดกิจกรรม 5 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นที่ 1
ขั้นทบทวนความรู้เดิม (Reviewing : R) ขั้นที่ 2 ขั้นนำเสนอเนื้อหาหรือสร้างสถานการณ์ (Presentation : P) ขั้นที่ 3 ขั้นปฏิบัติการเรียนรู้ (Action of Learning : A) ขั้นที่ 4 ขั้นสรุปบทเรียน (Lesson Summary : L) ขั้นที่ 5 ขั้นการประยุกต์ใช้ความรู้ (Application Stage : A)
และผลการตรวจสอบความเหมาะสมของรูปแบบจากผู้ทรงคุณวุฒิ มีคุณภาพเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.58
3 ผลการใช้รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามทฤษฎีการสร้างความรู้ร่วมกับการเรียนรู้แบบ CIPPA เพื่อพัฒนาความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ เรื่อง เศรษฐศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 (RPALA Model) พบว่า 1) ประสิทธิภาพของรูปแบบที่พัฒนาขึ้น
มีประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ 84.67/84.29 ซึ่งมีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 ที่ตั้งไว้
2) นักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบที่พัฒนาขึ้น มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3) นักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบที่พัฒนาขึ้น มีความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 4) นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยรูปแบบที่พัฒนาขึ้น โดยภาพรวมอยู่ใน
ระดับมาก
4. ผลการประเมินความคิดเห็นของครูผู้สอนรายวิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
ต่อการใช้รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามทฤษฎีการสร้างความรู้ร่วมกับการเรียนรู้แบบ CIPPA เพื่อพัฒนาความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ โดยภาพรวมมีความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก