รูปแบบการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์เพื่อพัฒนาการอ่านและเขียน
ผู้รายงาน นุตประวีณ์ ภัครวัฒน์อังxxxร
ปี พ.ศ. 2563
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพปัญหาความสามารถการอ่านและการเขียนของนักเรียน ชั้นประถมศึกษา โรงเรียนบ้านราหุล จังหวัดเพชรบูรณ์ 2) ออกแบบรูปแบบการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์เพื่อพัฒนาความสามารถการอ่านและการเขียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษา โรงเรียนบ้านราหุล จังหวัดเพชรบูรณ์ และ 3) ศึกษาผลการพัฒนาความสามารถการอ่านและการเขียนของนักเรียนตามรูปแบบการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์เพื่อพัฒนาความสามารถการอ่านและการเขียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษา โรงเรียนบ้านราหุล จังหวัดเพชรบูรณ์ ศึกษาจากประชากร คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ภาคเรียนที่ 1-2 ปีการศึกษา 2563 ทุกคน เครื่องมือที่ใช้ในการพัฒนา ได้แก่ ชุดฝึกทักษะการอ่านและการเขียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 และเครื่องมือประเมินผลความสามารถในการอ่านและการเขียน ได้แก่ เครื่องมือ วัดและประเมินผล สถาบันภาษาไทย สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการศึกษาพบว่า
1. สภาพปัญหาการอ่านและการเขียน คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 อ่านไม่ออก/อ่านไม่คล่อง และเขียนไม่ได้/เขียนไม่คล่องในปริมาณสูง (ร้อยละ 25.59 และ 32.73 ตามลำดับ) โดยมีสาเหตุปัญหา คือ ครูขาดสื่อและให้เวลาการฝึกทักษะการอ่านและการเขียนไม่เพียงพอ และผู้บริหารไม่เข้าใจเหตุแห่งปัญหา ทั้งปัญหาจากตัวครูและตัวเด็ก ไม่เข้าใจองค์รวมของปัญหาจึงไม่สามารถกำหนดยุทธวิธีในการบริหารจัดการได้อย่างเป็นระบบ
2. รูปแบบการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์เพื่อพัฒนาความสามารถการอ่านและการเขียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษา โรงเรียนบ้านราหุล จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยใช้วิธีการเชิงระบบ (System Approach) ประกอบด้วย ปัจจัยนำเข้า(Input) ได้แก่ ทรัพยากรในการบริหาร กระบวนการ(Process) ได้แก่ การบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ (Result–Based Management : RBM) กิจกรรมเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Communication: PLC) และดำเนินการตามวงจรคุณภาพ PDCA ได้แก่ วางแผน (Plan) ดำเนินการตามแผน (Do) ตรวจสอบประเมินผล (Check) และนำผลการประเมินมาปรับปรุงงาน (Act) ผลผลิตและผลลัพธ์ (Output & Outcome) เป็นความสามารถการอ่านและการเขียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ได้แก่ 1) การอ่านออกเสียง การอ่านตามหลักการใช้ภาษาไทย และการอ่านรู้เรื่อง 2) การเขียน ได้แก่ การเขียนคำ และการเขียนประโยค/เรื่อง และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
3. ผลการประเมินความสามารถการอ่านออกเสียง/อ่านตามหลักการใช้ภาษาไทยในภาพรวม พบว่า นักเรียนทั้งหมดจำนวน 154 คน มีนักเรียนผ่านระดับดีขึ้นไป 150 คน (ร้อยละ 97.40) บรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ (ร้อยละ 80) ผลการประเมินความสามารถการเขียนคำ/การเขียนสรุปใจความสำคัญ/เขียนย่อความในภาพรวม พบว่า นักเรียนทั้งหมดจำนวน 154 คน มีนักเรียนผ่านระดับดีขึ้นไป 140 คน (ร้อยละ 90.90) บรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ (ร้อยละ 80) และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ปีการศึกษา 2563 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในกลุ่มสาระการเรียนรู้หลักสูงขึ้นกว่าปีการศึกษา 2562 ทุกรายวิชา และค่าเฉลี่ยรวมทุกรายวิชาสูงขึ้นเท่ากับ 9.86