การประเมินโครงการปรับวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีรู้สู่วิถีใหม่ฯ
โคโรนา 2019 (COVID-19) โรงเรียนปทุมานุxxxล สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา
นครศรีธรรมราช เขต 4
ชื่อผู้ประเมิน : ชธรพร ร่มแก้ว
ตำแหน่ง : รองผู้อำนวยการสถานศึกษา วิทยฐานะ รองผู้อำนวยการชำนาญการ
ปีที่ประเมิน : ปีการศึกษา 2564
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การประเมินโครงการปรับวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีรู้สู่วิถีใหม่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โรงเรียนปทุมานุxxxล สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 4 ประเมินโดยใช้รูปแบบซิปป์ (CIPP Model) ประเมินโครงการ ในด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการและด้านผลผลิต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ประเมินบริบท (Context Evaluation) เกี่ยวกับความต้องการจำเป็น ความพร้อมและเหมาะสมของสถานศึกษา ความชัดเจนของวัตถุประสงค์ ความเป็นไปได้ของโครงการ การสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2) ประเมินปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) เกี่ยวกับบุคลากร งบประมาณและทรัพยากร ระบบบริหารจัดการ การจัดโครงสร้างองค์กร สื่อและวัสดุอุปกรณ์ การมีส่วนร่วมของชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3) ประเมินกระบวนการ (Process Evaluation) เกี่ยวกับด้านการวางแผนงานด้านการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ การนำหลักสูตรสถานศึกษาสู่การเรียนรู้ในสถานการณ์ปัจจุบัน การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ การนิเทศติดตามการจัดการเรียนการสอน การพัฒนาและใช้สื่อเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา 4) ประเมินผลผลิต (Product Evaluation) เกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในสาระวิชาหลัก พฤติกรรมการเรียนในเชิงบวก ความคงทนในการเรียนรู้ เจตคติต่อการเรียน ทักษะสื่อสารสารสนเทศและเทคโนโลยี ทักษะด้านชีวิตและอาชีพ และด้านความพึงพอใจของผู้เกี่ยวข้องกับโครงการ ประชากรที่ใช้ในการประเมินโครงการ ได้แก่ นักเรียน ครู ผู้บริหาร ผู้ปกครองและคณะกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนปทุมานุxxxล ในปีการศึกษา 2564 รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,057 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินโครงการได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Random Sampling) จำนวน 139 คน จำแนกเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 40 คน (สุ่มอย่างง่าย ห้องละ 10 คน จำนวน 4 ห้อง) ครูผู้สอน จำนวน 43 คน ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 3 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 40 คน (เลือกจากนักเรียน ป.6 ที่ถูกเลือกเป็นกลุ่มตัวอย่าง) และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 13 คน (ไม่รวมตัวแทนครูและผู้อำนวยการสถานศึกษา) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการเป็นแบบสอบถามมาตรประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 5 ฉบับ ดังนี้ 1) แบบสอบถามประเมินประเด็นบริบทก่อนการดำเนินงานโครงการ จำนวน 5 ตัวชี้วัด ข้อคำถาม จำนวน 40 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.89 2) แบบสอบถามประเมินประเด็นปัจจัยนำเข้า ประเมินระยะต้นและระหว่างโครงการ จำนวน 6 ตัวชี้วัด ข้อคำถาม จำนวน 46 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.91 3) แบบสอบถามประเมินประเด็นกระบวนการในการดำเนินกิจกรรมโครงการ จำนวน 7 ตัวชี้วัด ข้อคำถาม จำนวน 51 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.92 4) แบบสอบถามด้านผลผลิตจากการดำเนินงานโครงการ จำนวน 6 ตัวชี้วัด ข้อคำถาม จำนวน 42 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.90 5) แบบสอบถามความพึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการ จำนวน 18 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.84 ประเมินโดยนักเรียน ครู ผู้บริหาร ผู้ปกครองและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน การเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการตอบแบบสอบถามตามประเด็นการประเมิน ตรวจสอบเอกสารหลักฐาน วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วยค่าสถิติ ร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviation) โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป SPSS for Windows 16.0 ผลการประเมินและข้อเสนอแนะสรุปได้ดังนี้
ผลการประเมินโครงการพบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกประเด็นทุกตัวชี้วัดและภาพรวมของโครงการดังนี้
1. ผลการประเมินด้านบริบทของโครงการในภาพรวมพบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินและอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาตัวชี้วัดทั้ง 5 ตัวชี้วัด ได้แก่ ความต้องการจำเป็นของโครงการมีความเหมาะสมมากที่สุด รองลงมาคือ ความเป็นไปได้ของโครงการ ความพร้อมและเหมาะสมของสถานศึกษา ความชัดเจนของวัตถุประสงค์และการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามลำดับ
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ ในภาพรวมพบว่าผ่านเกณฑ์การประเมินและอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาตัวชี้วัดทั้ง 6 ตัวชี้วัด ได้แก่ ด้านระบบบริหารจัดการ มีความเหมาะสมมากที่สุด รองลงมาคือด้านบุคลากร ด้านการจัดโครงสร้าง ด้านสื่อและวัสดุอุปกรณ์ ด้านงบประมาณและทรัพยากร และด้านการมีส่วนร่วมของชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามลำดับ
3. ผลการประเมินประเด็นกระบวนการของโครงการในภาพรวมพบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินและอยู่ในระดับมากที่สุดทุกตัวชี้วัด เมื่อพิจารณาตัวชี้วัดทั้ง 7 ตัวชี้วัด ได้แก่ ด้านการวางแผนงาน การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ มีความเหมาะสมมากที่สุด รองลงมาคือ การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ ด้านการพัฒนาและใช้สื่อเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ด้านการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ ด้านการนำหลักสูตรสถานศึกษาสู่การเรียนรู้ในสถานการณ์ปัจจุบัน ด้านการนิเทศติดตามการจัดการเรียนการสอน และด้านการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ตามลำดับ
4. ผลการประเมินประเด็นผลผลิตของโครงการ ในภาพรวมพบว่าผ่านเกณฑ์การประเมินและอยู่ในระดับมากที่สุดทุกตัวชี้วัด เมื่อพิจารณาตัวชี้วัดทั้ง 6 ตัวชี้วัด ได้แก่ พฤติกรรมการเรียนในเชิงบวก มีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมาคือ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในสาระวิชาหลัก เจตคติต่อการเรียน ทักษะสื่อสารสารสนเทศและเทคโนโลยี ความคงทนในการเรียนรู้และทักษะด้านชีวิตและอาชีพ ตามลำดับ ความพึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการผ่านเกณฑ์การประเมินและอยู่ในระดับมากที่สุดทุกตัวชี้วัด