การพัฒนารูปแบบการบริหารงานวิชาการ แบบ TPR เพื่อแก้ปัญหาการอ่าน
การอ่านออกเขียนได้ ของนักเรียนโรงเรียนบ้านบ่อน้ำผุด
สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 2
ผู้วิจัย : นางจารุณี เทียนไชย
ปีที่ทำวิจัย : ปีการศึกษา 2563
บทคัดย่อ
จุดมุ่งหมายของการทำวิจัยนี้ (1) เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารงานวิชาการ แบบ TPRเพื่อแก้ปัญหาการอ่านออกเขียนได้ ของนักเรียนโรงเรียนบ้านบ่อน้ำผุด (2) เพื่อศึกษาผลการใช้รูปแบบการบริหารงานวิชาการแบบ TPR ของนักเรียนโรงเรียนบ้านบ่อน้ำผุดและ (3) เพื่อประเมินความพึงพอใจของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูผู้สอน นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียนที่มีต่อการพัฒนารูปแบบการบริหารงานวิชาการแบบ TPR ของนักเรียนโรงเรียนบ้านบ่อน้ำผุด โดยมีวิธีดำเนินการกับกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นักเรียนโรงเรียนบ้านบ่อน้ำผุด สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 2 ปีการศึกษา 2563 จำนวน 124 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสัมภาษณ์ แบบบันทึกข้อเสนอแนะประเด็นต่าง ๆ ตามหัวข้อของการพัฒนา เทปบันทึกการประชุม แบบบันทึกผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และแบบประเมินความพึงพอใจ วิเคราะห์ข้อความแล้วสรุปเป็นประเด็น หาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานและการทดสอบค่าที (t-test)
ผลการวิจัยพบว่า
1. การพัฒนารูปแบบการบริหารงานวิชาการ แบบ TPR เพื่อแก้ปัญหาการอ่านออกเขียนได้ ของนักเรียนโรงเรียนบ้านบ่อน้ำผุด พบว่า มีความตรงและเหมาะสมมาก ได้แก่ 1) การพัฒนาครู (T) 2) การขอความร่วมมือกับผู้ปกครอง (P) 3) การจัดหาสื่อ/แหล่งเรียนรู้ (R)
2. ผลการใช้รูปแบบการบริหารงานวิชาการแบบ TPR ของนักเรียนโรงเรียนบ้านบ่อน้ำผุด พบว่า การพัฒนาครู ทำให้ครูมีการปรับเปลี่ยนวิธีการสอน สามารถออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อแก้ปัญหาการอ่านออกเขียนได้โดยเน้นนักเรียนเป็นสำคัญ มีการพัฒนาและใช้สื่อประกอบการเรียนการสอน นำกระบวนการวิจัยในชั้นเรียนมาเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการเรียนการสอน และสามารถนำผลการวิจัยไปใช้ในการเพื่อแก้ปัญหา การอ่านออกเขียนได้และพัฒนาการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ การจัดหาสื่อนวัตกรรมและแหล่งเรียนรู้ และ ขอความร่วมมือกับชุมชนในการจัดการศึกษา ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ตามความสนใจและความถนัดของตนเอง นักเรียนมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ด้วยตนเอง ได้คิด ได้ลงมือปฏิบัติจริง นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ตามเกณฑ์ที่ทางโรงเรียนกำหนดและมีทักษะการคิดวิเคราะห์ ที่พัฒนาขึ้นกว่าเดิม
3. ผลการประเมินความพึงพอใจของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูผู้สอน นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียนที่มีต่อการพัฒนารูปแบบการบริหารงานวิชาการแบบ TPR เพื่อแก้ปัญหาการอ่านออกเขียนได้ ของนักเรียนโรงเรียนบ้านบ่อน้ำผุด สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 2 พบว่า คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูผู้สอน นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียน มีความพึงพอใจต่อการพัฒนารูปแบบการบริหารงานวิชาการแบบ TPR เพื่อแก้ปัญหาการอ่านออกเขียนได้ ของนักเรียนโรงเรียนบ้านบ่อน้ำผุด สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 2 อยู่ในระดับมาก